ทรงอย่างแบด ปรากฏการณ์ฮอตฮิต ฟันน้ำนมยันน้ำหมาก

ทรงอย่างแบด ปรากฏการณ์ฮอตฮิต ฟันน้ำนมยันน้ำหมาก

ทรงอย่างแบด ปรากฏการณ์ฮอตฮิต ฟันน้ำนมยันน้ำหมาก

เรียกได้ว่ายังไม่มีวี่แววแผ่ว สำหรับสองศิลปินรุ่นเยาว์ วงเปเปอร์ เพลนส์ (Paper planes) จากค่าย Genie Records ที่ปังๆๆ ช่วงชิงพื้นที่สื่อนับตั้งแต่ปลายปี 2565 ยันต้นปีนี้

เป็นฝีมือของนักร้องนำอย่าง ธันวา เกตุสุวรรณ หรือฮาย อดีตศิลปินวง Perfect Stranger และ นครินทร์ ขุนภักดี หรือเซน มือเบส นำพาวงดนตรีแนวร็อกพังก์ ผสม อีโม แทรป ที่ดูเหมือนจะฟังยากเพราะไม่ใช่เพลงติดตลาด ให้โด่งดังแบบฉุดไม่อยู่ด้วยเพลงฮิตติดหู ทรงอย่างแบด (Bad Boy) ทะยานสู่มิวสิกวิดีโอยอดนิยมของโลกในหลายแพลตฟอร์มต้อนรับต้นปี ครองอันดับโลกที่ 50 ทางยูทูบ การันตีด้วยยอดล่าสุด ทะลุ 54 ล้านครั้ง (18 ม.ค.66)

จุดเริ่นต้นปรากฏการณ์มาจากกลุ่มวัยรุ่นฟันน้ำนม ที่ได้ฟัง ชื่นชอบ นำไปร้องตาม และโพสต์กระจายไปบนสายธารออนไลน์ จนกลายเป็นไวรัลโด่งดังฉับไวแบบคาดไม่ถึง โดยเฉพาะเมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมปีที่แล้ว คลิปของเด็กอนุบาลบน TikTok สนุกสุดเหวี่ยงกันการเต้นและร้องแผดเสียงอันดัง ทรงอย่างแบด มีผู้ติดตามต้องเปิดดูซ้ำแล้วซ้ำอีกจนยอดวิวทะลุ 20 ล้านวิวเป็นที่เรียบร้อย และทะยานต่อไปไม่รู้จบ

ทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย เธอไม่อินกับผู้ชาย Bad boy

เพราะเนื้อเพลงและท่วงทำนองของจังหวะร้อยเรียงแบบไม่ซับซ้อน ทำให้ร้องตามได้ง่าย คลายข้อสงสัยว่าอะไรที่ทำให้เพลงนี้กลายเป็นที่จดจำ

เพราะคำคล้องจองที่หยิบมาใช้ในบางช่วง ทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย ดันไปคล้องกับทำนองของสูตรคูณแบบพอดิบพอดี

สอง หนึ่ง สอง สอง สอง สี่ 

ทรง (2) อย่าง (1) แบต (2) แซด (2) อย่าง (2) บ่อย (4)

เมื่อสารนี้ผ่านเข้าหู จึงติดอยู่ในหัวได้อย่างง่ายๆ กลายเป็นเพลงชาติของเหล่าเด็กอนุบาล

ทว่ากระแสไม่ได้หยุดอยู่แค่กลุ่มเด็ก ยังมีศิลปินดัง อินฟลูเอนเซอร์ ไปจนถึงคนธรรมดาที่ขออัดคลิปตามกระแสบ้าง มีตั้งแต่ ผอ.โรงเรียนดัง ขึ้นเวทีส่งเสียงว้าก ทรงอย่างแบด สร้างยอดวิวเป็นล้าน แสตมป์ อภิวัชร์ ดึงบรรยากาศ เรียกความมันกลางสนามโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ด้วยท่อนฮุก ทรงอย่างแบด เวอร์ชั่นเอาใจหนุ่มมัธยม

ไม่มีใครยอมตกเทรนด์ ทั้งวัยรุ่นฟันปลอม วัยรุ่นฟันครอบก็ขอว้ากบ้าง ปลุกนักศึกษา กศน. ต.โพธิ์กลาง จ.นครราชสีมา ที่ง่วงหาวให้ลุกมาขยับร่าง รวมทั้งคลิปดูแล้วอมยิ้มตามจากงานเปิดโรงเรียนผู้สูงอายุเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา ในคลิปจะเห็นเหล่าผู้สูงอายุในวัย 70 นับร้อยไม่เกรงใจสังขารโยกหัวกันกระจุย บรรลุวัตถุประสงค์ของกิจกรรมที่ต้องการคลายเหงา ส่งเสริมสุขภาพ และสานสัมพันธ์อันดีในชุมชนอย่างดี
สร้างกระแสแรง ฮิตยัน นกแก้ว ที่ร้องตามได้อย่างชัดแจ๋ว ร้องทั้งวี่ทั้งวัน

ย้อนไปปลายปีก่อนเคาต์ดาวน์ เด็กน้อยเกาะขอบเวทีดูคอนเสิร์ตที่ปากช่อง นักร้องขวัญใจบอก สัญญาได้ไหม ว่าถ้าดูคอนเสิร์ตจบแล้วจะไปแปรงฟันกัน

สิ้นเสียงตอบรับว่า ได้ ก็เกิดไวรัลแบบสายฟ้าฟาด แอตติจูดดีจนแม้แต่ผู้ว่าฯกทม. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ยังดัดแปลงเป็นคำขวัญวันเด็ก เพจชื่อดังด้านเด็กและครอบครัว อย่าง หมอมิน พญ.เบญจพร ตันตสูติ เจ้าของเพจ เข็นเด็กขึ้นภูเขา ยังชม การให้สัมภาษณ์และวางตัวเหมาะสม ทำให้เด็กได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษ ให้ซึมซับจากสิ่งที่ได้ยินและเห็น มากกว่าคำสอน ล่าสุด เตรียมรับจ๊อบเสริมเป็นพรีเซ็นเตอร์รีวิวสินค้าเด็ก
วันเด็กแห่งชาติก็ไม่พลาด โผล่ไปว้ากเซอร์ไพรส์

เอฟซี กระหึ่มสวนสัตว์ซาฟารีเวิลด์ อัฒจันทร์อัดแน่นไปด้วยเด็กและผู้ปกครอง

ฮายฝากน้องๆ ไว้ว่า เราผ่านการเป็นเด็กมาก่อน เป็นวัยสนุก เด็กๆ ทุกคนจะมีชีวิต และทางเลือกของตัวเอง หาให้เจอว่าชอบสิ่งไหน ไม่ต้องรีบ ไม่ต้องเปรียบเทียบคนอื่น คุณพ่อคุณแม่จะให้คำแนะนำและซัพพอร์ตอยู่ด้านหลัง ขณะที่ หนุ่มเซนขอให้ทำสิ่งที่รักให้เต็มที่ วันหนึ่งจะส่งผลดีกับเราทางใดทางหนึ่ง

ด้วยภาพลักษณ์ตัวอย่างที่ดีของเยาวชน ขัดกับลุคสักเต็มร่าง จึงฮือฮานำมาซึ่งเสียงชื่นชมไม่หยุดว่าวิสัยทัศน์ดีกว่าผู้นำบางคน

และนี่คือจุดเริ่มต้นของ มาตรฐานใหม่ ไม่ตัดสินคนจากภายนอกไม่ได้ดังลอยๆ ทว่า ในเชิงเทคนิค มีคำอธิบายว่าทำไม ทรงอย่างแบด เป็นที่จดจำจนทุกวันนี้

ในมุมวิชาการ พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวถึงเพลง ทรงอย่างแบด ว่า จะเกี่ยวข้องกับพัฒนาการของเด็ก 3 เรื่อง คือ 1.เด็กจะรับเสียงที่มีโทนเสียงสูงได้ดีกว่าโทนเสียงต่ำ เวลาเด็กฝึกพูด เด็กจะจับคำจากเสียงของแม่ ย่า ยาย ได้ง่ายกว่าเสียงทุ้ม หรือเทียบกับผู้ใหญ่เวลาฝึกพูดภาษาอังฤษ จะฟังเสียงฝรั่งผู้หญิงที่เสียงใส และกังวานได้ง่ายกว่าเสียงฝรั่งผู้ชายที่ทุ้มกว่า

2.เพลงของเด็กมีคำซ้ำไปซ้ำมา ภาษาของเด็กยังไม่ได้พัฒนาเร็วถึงขั้นการจับประโยคได้ อย่างเพลงเด็กร้อง เช่น ก๊าบ ก๊าบ ก๊าบ หรือ ช้าง ช้าง ช้าง ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีดนตรีหรือทำนองที่ซับซ้อนมาก แต่มีคำซ้ำเยอะๆ

และ 3.คำคล้องจอง เด็กฟังแล้วติดหูง่ายกว่า อย่างที่ร้องว่า ทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย ที่เด็กจะร้องวนไปซ้ำๆ

สิ่งที่เด็กๆ ชอบในเพลงนี้อีกอย่างคือ ตอนที่ได้ตะโกนคำว่า แบดบอย เพราะเด็กมีพลังงานเยอะ เล่นสนุกได้ทั้งวัน ได้ปล่อยพลังงานออกมา สิ่งที่มีความน่าสนใจ คือ การที่เด็กร้องเพลงที่ไม่ใช่ท่อนฮุกได้ เพราะท่อนอื่นๆ เช่น ท่อนแร็พ ค่อนข้างซับซ้อนแต่เด็กๆ กลับร้องได้ สะท้อนให้เห็นถึงระดับความสามารถในการใช้ภาษาของเด็กไทยที่ดีขึ้น พญ.ดุษฎีกล่าว

ขณะที่ กุลธีร์ บรรจุแก้ว อาจารย์ประจำสาขาวิชาดนตรีสร้างสรรค์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏพระนครศรีอยุธยา วิเคราะห์ว่า ที่เด็กๆ ชอบมีเหตุผลทางดนตรีอยู่ 3 ประการ คือ 1.ดนตรีทำงานเหมือนฉากละคร ที่จะมีฉากหน้าสุด ฉากตรงกลาง และฉากด้านหลัง มี 3 ระยะ

ระยะที่อยู่หน้าสุดของคนฟังเลยคือทำนองของมัน โดยเฉพาะในท่อนฮุกที่ร้องคำว่า ทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย เธอไม่อินกับผู้ชายแบดบอย จะเห็นได้ว่าเป็นประโยคที่ประกอบไปด้วย 3 วลี ทรงอย่างแบด ก็นับเป็น 3 พยางค์ แซดอย่างบ่อย ก็มี 3 พยางค์ และต่อด้วยท่อนที่มี 8 พยางค์ต่อเนื่องกัน

แน่นอนว่ากลไกแบบนี้เป็นกลไกที่เพลงป๊อปปกติทำขึ้นอยู่แล้ว แต่ทำให้ติดหูได้ง่ายเพราะซ้ำรูปแบบโครงสร้างของการมีจังหวะและเนื้อเพลงแบบนี้อีกครั้งหนึ่ง และ วิธีการที่ฉลาดมากของเพลงนี้คือมีการว้าก ที่ใช้เทคนิค Vocal Fry ซึ่งเป็นเหมือนการปลดปล่อยของท่อนเพลงทำให้ผู้ฟังโดยเฉพาะเด็ก สามารถตะโกน หรือร้องในสิ่งที่เขาสามารถร้องตามได้

โดยเฉพาะท่อนนี้อยู่ในจังหวะหนักของเพลง ทำให้คนที่ติดตามรู้สึกว่าท่อนนี้เป็นจุดปลดปล่อยของเพลง และกลับมาร้องซ้ำอีกครั้งในท่อน ทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย ปล่อยเธอไปกับไอ้หนุ่มกู๊ดบอย ที่คล้ายกับช่วงแรกของท่อนฮุก ซึ่งก็เป็นสูตรที่เข้าใจได้ในดนตรีป๊อบ คิดว่าส่วนนี้เป็นเงื่อนไขหลักที่ทำให้คนจำได้ ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีให้ความเห็น

ประการที่สอง คือ ระยะที่ 3 ที่เปรียบเสมือนฉากด้านหลังของละครที่สนับสนุนเพลงนี้คือเครื่องดนตรี กีตาร์ เบส กลอง จะสังเกตได้ว่าเมื่อลงคำว่า แบด เสียงดนตรีจะมีเสียงเอคโค่กระตุกขึ้นมา ซึ่งมีส่วนสนับสนุนทำให้เกิดความทรงจำอย่างรวดเร็วในการฟัง และท่อนที่มีการว้ากดนตรีก็จะปล่อยไหล ในสองระยะที่เล่ามาจะเป็นส่วนประกอบสำคัญตั้งแต่เรื่องของการเซตอัพพยางค์ของคำ และตัวเอคโค่ที่ผ่านตัวแบ๊กกราวน์ของกีตาร์ เบส กลอง

ประการที่สาม คือ เรื่องทำนอง ถ้าใครเคยร้องเพลง Do-re-mi (Doe A Deer) จากภาพยนตร์เรื่อง The Sound Of Music เราจะเห็นว่าท่อนฮุกของเพลงนี้จะใช้ระดับเสียงแค่ 5 เสียง คือ Pentatonic Scale โดยโน้ตที่เกิดขึ้นคือขึ้นในท่อนฮุกจะวนอยู่แค่ 3 โน้ต คือ D E F# F# D D ซึ่งจะทำให้เด็กจำง่าย หรือถ้าคิดในเชิงเปรียบเทียบก็จะคล้ายๆ กับการท่องสูตรคูณ

แต่คิดว่าปัจจัยนี้ไม่น่าใช่ความตั้งใจของวง Paper Planes ผมว่าเพลงนี้เขาตั้งใจทำเป็นเพลงป๊อป สำหรับวัยรุ่นยุค Early Teen ตั้งแต่อายุ 10 ขวบขึ้นไป แต่ความบังเอิญที่ดังในหมู่เด็กได้ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องของมีเดีย คือการที่เด็กสมัยนี้จับมือถือได้เร็วขึ้นและมีไวรัลผ่าน TikTok หรือผ่านสิ่งต่างๆ ที่เขาได้เห็น เพลงนี้เลยเข้าไปสู่เยาวชนที่อายุต่ำกว่าตลาดที่เขาวางเอาไว้ อ.กุลธีร์มองอย่างนั้น

คุณกำลังดู: ทรงอย่างแบด ปรากฏการณ์ฮอตฮิต ฟันน้ำนมยันน้ำหมาก

หมวดหมู่: ความบันเทิง

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด