ตรุษจีน 2566 มังกรพลัดถิ่น แต่ไม่ทิ้งลาย

จีนเป็นดินแดนที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดินเลย เพราะลูกหลานมังกรได้เดินทางไปตั้งถิ่นฐานยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก มิใช่เพียงพลัดถิ่นไปตั้งรกรากบนดินแดนใหม่เท่านั้น แต่ยังนำประเพณีวัฒนธรรมติดตัวไปด้วย

ตรุษจีน 2566 มังกรพลัดถิ่น แต่ไม่ทิ้งลาย

คงไม่เกินจริงนักหากจะกล่าวว่า ‘จีน’เป็นดินแดนที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดินเลย เพราะลูกหลานมังกรได้เดินทางไปตั้งถิ่นฐานยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก พวกเขามิใช่เพียงพลัดถิ่นไปตั้งรกรากบนดินแดนใหม่เท่านั้น แต่ยังนำประเพณีวัฒนธรรมและความเชื่อคติจีนติดตัวไปด้วย จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ชุมชน ‘ไชน่าทาวน์’ (Chinatown) ปรากฏอยู่ในเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก

แม้ลูกหลานชาวจีนจะเกิดและอาศัยในดินแดนใหม่ เติบโตขึ้นท่ามกลางสภาพแวดล้อมของพื้นที่นั้นๆ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ‘ความเป็นจีน’ ยังคงถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านแนวคิดและความเชื่อในครอบครัวที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ใด ชาวจีนมักจะรวมตัวกันเป็นปึกแผ่นและเชิดชูขนบประเพณีดั้งเดิมของตัวเอง ทำให้อัตลักษณ์ความเป็นจีนปรากฏให้เห็นเด่นชัดอยู่เสมอ

จากการสำรวจของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรเชื้อสายจีน อยู่ที่ร้อยละ 24.58 หรือประมาณ 16 ล้านคน เนื่องจากไทยเป็นจุดหมายปลายทางหลักในการเดินทางอพยพของคนจีนแผ่นดินใหญ่มาตั้งแต่อดีต ด้วยเหตุนี้ทำให้ประเทศไทยมีคนไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ร่องรอยขนบประเพณีแห่งวิถีมังกรก็ยังคงได้รับการส่งต่อกันมาจนถึงปัจจุบันเช่นกัน

คลื่นอพยพชาวจีน เมื่อลูกหลานมังกรหันหลังให้แผ่นดินใหญ่

ผศ.ดร. ศิริเพ็ชร ทฤษณาวดี อาจารย์สาขาวิชาภาษาจีน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรรมศาสตร์ กล่าวว่า “ในสมัยก่อนความอดอยาก คือสาเหตุหลักที่ทำให้สายเลือดมังกรต้องละทิ้งถิ่นฐานไปตายดาบหน้า หรือแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าเดิม ซึ่งการอพยพของชาวจีนมีหลายระลอก ขึ้นอยู่กับความจำเป็นที่แตกต่างกัน ในยุคหลังๆ อาจมีสาเหตุจากสงครามและการเมือง สำหรับคลื่นอพยพชาวจีนระลอกใหญ่ ในประเทศไทยนั้นเกิดขึ้นในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยจะเดินทางมาเป็นกลุ่มเพื่อมาหากลุ่มญาติที่อยู่เมืองไทย ซึ่งอพยพมาก่อนหน้า ทำให้กลุ่มคนจีนในและพื้นที่มักเป็นกลุ่มก๊วนเดียวกัน เช่น จีนแต้จิ๋ว จีนกวางตุ้ง เป็นต้น

นับตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา จีนมีนโยบายเปิดประเทศระยะแรก ทำให้มีชาวจีนยุคใหม่เดินทางออกนอกแผ่นดินใหญ่จำนวนมาก โดยส่วนใหญ่มุ่งหน้ามายังไทยและฟิลิปบินส์ การอพยพของชาวจีนยุคใหม่นี้ถูกเรียกว่า ‘การอพยพคลื่นลูกที่ 4’ ซึ่งเป็นการอพยพหนีจีนแผ่นดินใหญ่ด้วยเหตุผลด้านสภาพเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมือง”

ชาวจีนจำนวนมาก เลือกที่จะเดินทางรอนแรมหนีภัยสงครามและความยากจน อพยพข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อแสวงหาชีวิตใหม่ในต่างแดน ซึ่งในภาษาไทยจะมีคำที่เรียกกลุ่มชาวจีนอพยพว่า ‘ชาวจีนโพ้นทะเล’ หรือ ‘หัวเฉียว’ (华侨) ในภาษาจีน ใช้อธิบายถึงผู้มีเชื้อสายจีนที่อยู่ห่างไกลจีนแผ่นดินใหญ่ เดินทางกระจัดกระจายไปทั่วโลก

ทั้งนี้ เมื่อชาวจีนเดินทางอพยพ ก็มักจะเดินทางเป็นครอบครัว หรือเดินทางไปพร้อมพวกพ้อง ระหว่างการเดินทางก็จะมีการสานต่อมิตรภาพ บางคนอาจตกลงเป็นพี่น้องร่วมสาบาน เมื่อไปตั้งถิ่นฐานและได้ดิบได้ดีบนแผ่นดินใหม่ ก็จะระลึกถึงและยื่นมือให้ความช่วยเหลือกันอยู่เสมอ โดยส่วนใหญ่เมื่ออพยพไปขึ้นฝั่งแล้วก็มักจะตั้งชุมชนจีนเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในอีกแง่หนึ่งก็เพื่อเป็นการปกป้องตัวเองและครอบครัว ไม่ให้ต่างชาติเข้ามารังแกได้ง่ายๆ หรืออาจมีการตั้งสมาคมชาวจีนขึ้น เพื่อใช้เป็นอำนาจต่อรองกับชุมชนภายนอก เนื่องจากพวกเขาเป็นคนกลุ่มน้อยในเวลานั้น

เอเชียอาคเนย์ หรือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็นพื้นที่ที่ชาวจีนอพยพมาขึ้นฝั่งมากที่สุด การเดินทางมาหลายระลอก และเดินทางมาด้วยเรือหลายลำ สำหรับในประเทศไทย คลื่นอพยพชาวจีนส่วนใหญ่เป็นคนจีนแต้จิ๋ว แคะ กวางตุ้ง และฮกเกี้ยน เริ่มอพยพมาตั้งแต่ช่วงก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา หรือแม้กระทั่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาเอง ก็ยังมีเรื่องเล่าตำนาน ‘เจิ้งเหอ’ นักเดินเรือชาวจีนผู้ยิ่งใหญ่ ที่มีความเกี่ยวข้องกับ ‘หลวงพ่อโต’ วัดพนัญเชิง จ.พระนครศรีอยุธยา หรือที่ถูกเรียกอีกชื่อว่า ‘หลวงพ่อซำเปากง’ ซึ่งเป็นชื่อภาษาจีน

ในสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ถือว่าคนจีนได้เริ่มมีบทบาทอย่างมากในไทย อย่างที่ทราบกันดี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงมีเชื้อสายแต้จิ๋ว ส่วนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ก็ทรงมีเชื้อสายจีนฮกเกี้ยน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เป็นยุคสมัยที่คนจีนอพยพเข้ามาเป็นจำนวนมาก และมีส่วนทำให้ย่านเยาวราชเฟื่องฟูขึ้นมา เนื่องจากคนจีนมักเลือกขึ้นฝั่งที่เมืองท่า อาศัยอยู่ในตลาดหรือชุมชนที่ไม่ห่างไกลเมือง เพราะเป็นย่านที่แวดล้อมด้วยคนเมืองที่มีกำลังซื้อสูง

ไชน่าทาวน์ (Chinatown) มังกรพลัดถิ่น ไม่ทิ้งพรรคพวก

คำว่า ‘ไชน่าทาวน์’ ใช้เรียกชุมชนจีนที่ผู้มีเชื้อสายจีนอาศัยอยู่มากที่สุด อาจมีสัญลักษณ์ให้สังเกตได้โดยง่าย เช่น ซุ้มประตูลวดลายจีน ศาลเจ้าจีน โรงเจ ร้านอาหารจีน ป้ายอักษรภาษาจีน ฯลฯ ซึ่งในกรุงเทพฯ ย่านเยาวราชในพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ ตลอดจนย่านตลาดน้อย เจริญกรุง เวิ้งนาครเกษม และคลองถม เป็นจุดที่มองเห็นภาพได้ชัดเจนที่สุด อีกทั้งถือว่าชุมชนไชน่าทาวน์ในไทยเป็นชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลที่ใหญ่แห่งหนึ่งของโลก

ความน่าสนใจคือ ‘ไชน่าทาวน์’ ในภาษาจีนเรียกว่า ‘ถังเหรินเจีย’ (唐人街) โดยคำว่า ‘ถังเหริน’ หมายถึง ชาวถัง (ราชวงศ์ถัง) ส่วนคำว่า ‘เจีย’ หมายถึง ถนน เหตุใดชุมชนจีนถึงถูกเรียกว่า “ถนนของชาวถัง” ประเด็นนี้มีที่มาจากสมัยราชวังศ์ถัง (ประมาณ 1,400 ปีก่อน) ได้เปิดให้พ่อค้าชาวต่างชาติเข้ามาค้าขายในแผ่นดินจีนได้ โดยไม่เก็บภาษี เป็นยุคที่การค้าของจีนเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก เกิดการหลอมรวมวัฒนธรรม แต่งงานข้ามเชื้อชาติ จนเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลาย ทำให้ชุมชนที่อาศัยและมีการค้าขายของชาวจีน ถูกเรียกว่า ‘ถังเหรินเจีย’ นั่นเอง

การเข้ามาของคนจีนในช่วงแรกนั้น เข้ามาเป็นแรงงานให้คนท้องถิ่น โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 1 แรงงานจีนคือกลุ่มหลักที่มีบทบาทในการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างถนนหนทาง อาคารสิ่งก่อสร้าง ฯลฯ ก่อนจะขยับขยายไปสู่อาชีพอื่นๆ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในอัตลักษณ์ของชาวจีนก็คือ ความสามารถในการค้าขาย ทำให้ย่านไชน่าทาวน์ไม่ได้เป็นแค่แหล่งอาศัยของชาวจีน แต่ยังเป็นศูนย์กลางธุรกิจและการค้าอีกด้วย

ในประเทศไทย แต่เดิมกลุ่มชาวจีนอาศัยอยู่ในย่านพระบรมมหาราชวัง ต่อมาย้ายไปอยู่ย่านสำเพ็ง แต่สำเพ็งเริ่มแออัดมักเกิดเหตุไฟไหม้ขึ้นบ่อยๆ จึงเริ่มขยายไปยังพื้นที่ใกล้เคียง จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการตัดถนนสายใหม่ขึ้นในปี พ.ศ. 2435 ใช้เวลา 8 ปีจึงสร้างเสร็จ รู้จักกันในชื่อ ‘ถนนเยาวราช’ ย่านนี้เป็นชุมชนหลักของผู้มีเชื้อสายจีนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

นอกจากนี้ ก่อนที่ชาวจีนจะมาขึ้นฝั่งที่กรุงเทพฯ ระหว่างเดินทางข้ามทะเล ชาวจีนจะนับถือ ‘ม่าจ้อโป๋’ (คนละองค์กับเจ้าแม่ทับทิม) ซึ่งเชื่อว่าเป็นเทพเจ้าแห่งท้องทะเลที่ช่วยปกปักรักษาให้รอดพ้นจากอันตราย เมื่อพวกเขาขึ้นฝั่งได้อย่างปลอดภัย ก็จะสร้างศาลเจ้าและรูปเคารพเทพเจ้าเหล่านี้ไว้สำหรับกราบไหว้บูชา ค่อยๆ นำไปสู่การเผยแพร่ประเพณี วัฒนธรรม และความเชื่อแบบจีนในสังคมนั้นๆ

ผศ.ดร. ศิริเพ็ชร กล่าวเสริมว่า “สาเหตุที่ทำให้ชาวจีนสามารถตั้งชุมชนไชน่าทาวน์ได้ เนื่องจากประชากรจีนมีจำนวนมาก หากกล่าวถึงประเทศที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดคงต้องนึกถึงจีนและอินเดีย แต่อินเดียเป็นสังคมชนชั้นวรรณะ ทำให้รวมตัวกันได้ยาก ในขณะที่จีนรวมตัวกันง่ายกว่า ไม่ว่าจะไปตั้งถิ่นฐานที่ใด ชาวจีนจะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และหากพบว่ามีความเชื่อมโยงเป็นญาติกัน (เช่น แซ่เดียวกัน, มาจากเมืองเดียวกัน) ก็จะตั้งสมาคมเพื่อรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน การรวมตัวเป็นกลุ่มทำให้พวกเขามีเสียง มีพลัง สามารถต่อสู้กับคนนอกได้”

‘แซ่’ ร่องรอยของสายเลือดลายมังกร

คุณแซ่อะไร?” เป็นคำถามที่คุ้นเคยกันดีสำหรับคนไทยเชื้อสายจีน เพราะ ‘แซ่’ หรือ ‘นามสกุล’ สามารถบ่งบอกได้ถึงเชื้อสาย บ้านเกิด และการแสดงถึงความเป็นพวกพ้อง โดยเชื่อว่าแซ่อาจมีที่มาจากหลายต้นกำเนิด อาจเป็นการตั้งตามชื่อราชวงศ์ บรรพบุรุษ แว่นแคว้น ยศถาบรรดาศักดิ์ ตำแหน่งทางราชการ อาชีพ ฯลฯ

เชื่อกันว่าวัฒนธรรมการใช้แซ่เป็นสิ่งที่อยู่คู่คนจีนมายาวนานหลายพันปี โดย ‘เจี๋ยกู่เหวิน’ ซึ่งเป็นกระดูกกระดองเต่าที่จารึกอักษรจีนโบราณในสมัยราชวงศ์ซาง (ประมาณ 1,600 - 1,046 ปี ก่อนคริสตศักราช) ก็ปรากฏให้เห็นถึงการใช้แซ่จีนของบุคคลสำคัญแล้ว

มีข้อสันนิษฐานว่า ‘แซ่’ ก็มีพัฒนาการทางด้านภาษาเช่นเดียวกัน เนื่องจากแซ่โบราณที่สามารถพบเห็นได้ในวรรณกรรมจีนยุคเก่า ไม่พบว่ามีผู้ใช้แล้วในปัจจุบัน รวมไปถึงยังมีการกำเนิดแซ่ใหม่ๆ ขึ้นมากมาย ส่วนใหญ่แซ่จีนจะมีเพียง 1 พยางค์เท่านั้น หากเป็นชนกลุ่มน้อยอาจมี 2 พยางค์

ทั้งนี้ ระบบแซ่ในวัฒนธรรมจีน ถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอัตลักษณ์เฉพาะกลุ่ม เพราะคนจีนจะต่างจากคนไทยตรงที่พวกเขาไม่เปลี่ยนแซ่เลย แต่เมื่ออพยพย้ายถิ่นฐานอาจมีการเปลี่ยนมาใช้นามสกุลภาษาไทย แต่ก็ยังคงรักษาแซ่เดิมไว้ที่ต้นนามสกุล หรือหากเปลี่ยนก็จะใช้คำที่ออกเสียงใกล้เคียง หรือมีความหมายตามแซ่เดิมของตัวเอง

เนื่องจากคนไทยเชื้อสายจีนในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นจีนถิ่นแต้จิ๋ว ทำให้การออกเสียงแซ่มักยึดสำเนียงแต้จิ๋วเป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่น แซ่ตั้ง (ภาษาจีนกลางคือ แซ่เฉิน), แซ่ลิ้ม (ภาษาจีนกลางคือ แซ่หลิน), แซ่หลี (ภาษาจีนกลางคือ แซ่หลี่), แซ่อึ๊ง (ภาษาจีนกลางคือ แซ่หวง), แซ่โง้ว (ภาษาจีนกลางคือ แซ่อู๋) เป็นต้น

‘กตัญญู’ คุณธรรมประจำใจของผู้มีเชื้อสายจีน

ในบรรดาคุณธรรมทั้งหมด ‘ความกตัญญู’ (孝) ถือเป็นคุณธรรมสูงสุด ซึ่งเป็นคติที่ชาวจีนยึดถือกันมาช้านาน โดยเฉพาะการแสดงความกตัญญูแต่บรรพบุรุษและบิดามารดา สอดคล้องกับหลักจริยศาสตร์ของปรัชญาสำนัก ‘ขงจื๊อ’ (Confucius) ที่กล่าวว่า “ความกตัญญูเป็นรากเหง้าแห่งคุณธรรมทั้งปวง
แนวคิดนี้ได้กลายเป็นรากแก้วที่หยั่งลึกในสังคมจีนมาช้านาน ในอีกแง่หนึ่งก็เพื่อจัดระเบียบสังคมและรัฐ โดยกำหนดบทบาทของผู้คนในสังคมว่าควรปฏิบัติตนต่อผู้อื่นอย่างไร เนื่องจากเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนย่อมมีบทบาทใดบทบาทหนึ่งในความสัมพันธ์ 5 รูปแบบ ดังนี้

1. ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครอง-ผู้อยู่ใต้ปกครอง
2. ความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดา-บุตรธิดา
3. ความสัมพันธ์ระหว่างสามี-ภรรยา
4. ความสัมพันธ์ระหว่างผู้น้อย-ผู้ใหญ่
5. ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน-เพื่อน

แน่นอนว่าสำหรับชาวจีนโพ้นทะเลพวกเขาได้นำรากเหง้าและแนวคิดเหล่านี้ติดตัวมาด้วย เมื่อถึงช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น วันตรุษจีน ก็จะต้องมีการไหว้บรรพชนเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทิตา รวมไปถึงไหว้เทพเจ้าที่เคารพนับถือ และจะต้องเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อไปหาบิดามารดาและใช้เวลาร่วมกับครอบครัวนั่นเอง

‘ชาวจีนยุคใหม่’ การผสมกลืนกลายระหว่างไทยและจีนในวันตรุษจีน

จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” (中泰一家亲) เป็นประโยคที่สะท้อนความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและจีนเป็นอย่างดี เนื่องจากทั้งสองประเทศมีสัมพันธไมตรีมายาวนานกว่า 700 ปี ทำให้วัฒนธรรมไทยและจีนผสมกลืนกลายกัน

ยิ่งในช่วงเทศกาลวันตรุษจีนจะเห็นได้ชัดว่า คนไทยจำนวนมากถือปีชงและไหว้เทพเจ้าจีน แต่งตัวรับตรุษจีน และให้อั่งเปาผู้น้อย ในขณะที่คนเชื้อสายจีนเอง ก็ได้รับอิทธิพลและวิถีชีวิตต่างๆ จากไทยเช่นเดียวกัน ด้วยความที่สังคมไทยเป็น ‘สังคมพหุวัฒนธรรม’ ที่ค่อนข้างยอมรับความหลากหลาย จึงทำให้เกิดการกลืนกลาย (Assimilation) ระหว่างสองวัฒนธรรมได้ง่าย

ผศ.ดร. ศิริเพ็ชร ให้ความเห็นว่า “สังคมไทย คือสังคมที่สามารถหลอมรวมวัฒนธรรมต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากไทยเป็นชาติที่มีความยืดหยุ่นสูง กฎหมายไม่เคร่งครัด และพื้นเพนิสัยคนไทยมักเป็นคนใจกว้าง ใจดี และลืมง่าย เมื่อชาวจีนอพยพเข้ามายังประเทศไทย จึง ‘กลืนกลาย’ ไปกับสังคมไทยอย่างราบรื่น และไม่ได้สร้างความรู้สึกแปลกแยกใดๆ ซึ่งความกลืนกลายนี้เป็นสิ่งที่พบได้ยากมากในต่างประเทศ”

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบชาวจีนโพ้นทะเลในอดีตกับชาวจีนยุคใหม่ที่เป็นเจเนอเรชันรุ่นลูกหลาน จะเห็นได้ว่าแม้พวกเขาจะส่งต่อความเป็นจีนจากรุ่นสู่รุ่น เสมือนมังกรที่ไม่เคยทิ้งลาย แต่ความเข้มข้นทางจารีตและประเพณีได้ลดลงอย่างมาก พวกเขาเริ่มปรับตัวเข้ากับสังคมยุคใหม่ ธรรมเนียมต่างๆ เริ่มผ่อนปรนลง

ในอดีตเคยมีคำกล่าวที่ว่าหากเป็นลูกคนจีน แต่ไม่รู้ภาษาจีน ก็เปรียบเสมือน “คนมีตา แต่หามีแววไม่” จนกระทั่งลูกหลานเชื้อสายจีนได้เข้าสู่ระบบการศึกษาของประเทศนั้นๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนไทยเชื้อสายจีนจำนวนมากในปัจจุบัน อาจไม่รู้รายละเอียดของธรรมเนียมปฏิบัติตั้งเดิม อ่าน พูด และเขียนภาษาจีนไม่ได้ ความเข้มข้นของความเป็นจีนอาจค่อยๆ จางลงเป็นเรื่องธรรมดา

ในขณะที่ทางด้าน ผศ.ดร. ศิริวรรณ วรชัยยุทธ อาจารย์สาขาวิชาภาษาจีน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรรมศาสตร์ เสริมว่า “ในครอบครัวเชื้อสายจีนที่ยังเคร่งครัดในประเพณีธรรมเนียมจีน ก็ยังคงมีการไหว้เจ้าและไหว้บรรพบุรุษ ปฏิบัติตามความเชื่อสืบทอดกันมา แต่มีการปรับให้เข้ากับยุคสมัยมากยิ่งขึ้น ไม่ยึดติดหรือเคร่งครัดมากเกินไป คนเชื้อสายจีนในไทยยังคงทำกิจกรรมเหมือนเดิม สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปคือรูปแบบและวิธีการบางอย่าง แต่ยังคงนัยแบบเดิมไว้ โดยเฉพาะการกลับไปเยี่ยมบ้าน (看运) ในวันหยุดตรุษจีน การใช้เวลากับครอบครัวญาติพี่น้อง และการมองอั่งเปาให้ผู้น้อย ซึ่งปัจจุบันตรุษจีนก็ยังคงเป็นเทศกาลที่มีมูลค่าทางการตลาดมาก ความเป็นจีนยังขายได้ และถูกรู้จักในฐานะเทศกาลแห่งความสุขสดใสรื่นเริงในสังคมไทย”

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเทศกาลตรุษจีนของทุกปี ก็ยังถือว่าเป็นช่วงที่เราจะได้เห็นอัตลักษณ์และความเป็นจีนในสังคมไทยชัดเจนมากที่สุด ทำให้หวนนึกถึงสำนวนจีนที่บอกว่า “อิ๋นซุ่ยซือหยวน” (饮水思源) หมายถึง “เมื่อดื่มน้ำให้คิดถึงต้นน้ำ” ในอีกนัยหนึ่งก็เปรียบเสมือนประโยคที่เตือนใจลูกหลานชาวมังกร แม้ว่าจะเติบโตห่างไกลบ้านเกิด แต่ก็ไม่ให้ลืมแผ่นดินเดิมที่พลัดถิ่นมา…

เรื่อง : ตติยา แก้วจันทร์

คุณกำลังดู: ตรุษจีน 2566 มังกรพลัดถิ่น แต่ไม่ทิ้งลาย

หมวดหมู่: วัฒนธรรม

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด