วิกฤติสังคมไทย คนยุคใหม่ขาด "ทักษะทุนชีวิต"

วิกฤติสังคมไทย พบรายงานเยาวชนและประชากรวัยแรงงานยุคใหม่ขาด "ทักษะทุนชีวิต"

วิกฤติสังคมไทย คนยุคใหม่ขาด "ทักษะทุนชีวิต"

วิกฤติสังคมไทย พบรายงานเยาวชนและประชากรวัยแรงงานยุคใหม่ขาด "ทักษะทุนชีวิต"

เมื่อก่อนนี้ เวลาเราพูดถึงความฉลาดใครสักคน กรอบคิดก็มีแค่ระดับเชาวน์ปัญญา หรือ ไอคิว (Intelligence Quotient - I.Q.) เป็นศักยภาพทางสมองที่ติดตัวมาแต่กำเนิด เปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขไม่ได้ และสามารถวัดออกมาเป็นค่าสัดส่วนตัวเลขที่แน่นอนได้ เราเคยเชื่อว่าไอคิว คือปัจจัยหลักที่ทำให้ประสบความสำเร็จ ทั้งในแง่การงานและการมีชีวิตที่มีความสุข

ต่อมา มีการเรียนรู้เพิ่มว่าการที่ชีวิตจะมีความสุขไม่ใช่เรื่องไอคิวซะแล้ว คนฉลาดที่ทำงานจนร่ำรวยมากมายเป็นลูกค้าของหมอจิตเวช

ในปี 1999 ปีเตอร์ ซาโลเวย์ และจอห์น ดี. เมเยอร์ สองนักจิตวิทยาอเมริกัน นำแนวคิดเรื่องนี้ขึ้นมาอีกครั้งหลังจากทำวิจัยมาพักใหญ่ เกิดคำศัพท์ใหม่ที่เรารู้จักกันดีว่า “อีคิว” (Emotional Quotient – E.Q.) หมายถึง ความฉลาดทางอารมณ์ ซึ่งเน้นการควบคุมอารมณ์ตนเองและการมีปฏิสัมพันธ์กับสังคม ในเวลาต่อมา แดเนียล โกลแมน นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ขยายแนวคิดนี้โดยเขียนหนังสือเรื่อง “ความฉลาดทางอารมณ์” (Emotional Intelligence) หลังจากนั้น ทั่วโลกยอมรับว่าอีคิวเป็นส่วนสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จและความสุขในชีวิต

แปลว่าถ้าอยากมีชีวิตที่เป็นความสุข ไม่จำเป็นต้องเกิดมาฉลาดล้ำ แต่ขอให้รู้จักควบคุมความคิดความอ่านเป็น ไม่เป็นคนหัวร้อน วู่วาม ลดการเห็นแก่ตัว เห็นอกเห็นใจคนอื่นเขาบ้าง สรุปคือ I.Q. เป็นเรื่องของยีน แต่ E.Q. นั้นสร้างได้

แต่พอมาถึงยุคโซเชียลมีเดีย การที่เด็กคนหนึ่งจะมีแค่ E.Q. ที่ดีก็ไม่พอเสียแล้ว การสร้างเด็กให้อยู่รอดในโลกยุคใหม่ต้องใส่สิ่งที่เรียกว่า “ทักษะทุนชีวิต” (Foundational Skills)

รายงานธนาคารโลก และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา บอกว่า เวลานี้ไทยเผชิญวิกฤติเยาวชนและประชากรวัยแรงงานขาดแคลนทักษะ หรือมีทักษะทุนชีวิตต่ำกว่าเกณฑ์ (Threshold Level) ในสัดส่วนที่สูง และจากวิกฤตินี้ คาดว่าจะสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 3.3 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 20.1 ของจีดีพี

องค์ประกอบของทักษะทุนชีวิต แบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือการรู้หนังสือ (Reading Literacy) ทักษะดิจิทัล (Digital Skills) และทักษะทางอารมณ์และสังคม (Socio-Emotional Skills) อันหลังนี้แต่เดิมคือ E.Q. นั่นเอง

ในโลกอนาคต Foundational Skills จะเป็นทักษะที่เชื่อมโยงกับการทำงานในทุกสาขาอาชีพ และใช้ได้กับทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต

เยาวชนและประชากรวัยแรงงานในประเทศไทยจำนวน 2 ใน 3 มีทักษะทุนชีวิตด้าน “การรู้หนังสือ” ต่ำกว่าเกณฑ์ (เรายังอ่านหนังสือวันละ 8 บรรทัดอยู่เลย) กลุ่มคนเหล่านี้ไม่สามารถอ่านและเข้าใจข้อความสั้น ๆ เพื่อแก้ปัญหาง่าย ๆ เช่น การทำตามฉลากยา

จำนวน 3 ใน 4 ของเยาวชนและประชากรวัยแรงงานมีทักษะ “ด้านดิจิทัล” ต่ำกว่าเกณฑ์ ประสบปัญหาในการใช้อุปกรณ์ชี้ตำแหน่ง เช่น เมาส์ แป้นพิมพ์ บนคอมพิวเตอร์พกพา และไม่สามารถทำงานง่าย ๆ เช่น การค้นหาราคาที่ถูกต้องของสินค้าจากเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ได้

จำนวนร้อยละ 30.3 ของเยาวชนและประชากรวัยแรงงานมีทักษะทุนชีวิตทาง “อารมณ์และสังคม” ต่ำกว่าเกณฑ์ หมายความว่ากลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีแนวโน้มริเริ่มเพื่อสังคม ไม่มีความกระตือรือร้น และขาดจินตนาการ

ทั้งหมดที่ว่ามานี้ เป็นทักษะที่เราหามาเติมให้เด็กๆ ได้ เพราะมันไม่ใช่เรื่องไอคิว เป็นเรื่องการของระบบการศึกษา เป็นการสร้างนวัตกรรมด้านการศึกษาซึ่งรวมถึงครูผู้สอนด้วย

บทความโดย
พรวิไล คารร์
นักกระบวนกรชุมชน นักเขียนอิสระ

 

คุณกำลังดู: วิกฤติสังคมไทย คนยุคใหม่ขาด "ทักษะทุนชีวิต"

หมวดหมู่: ผู้หญิง

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด