วันจาตุรงคสันนิบาต ใช่วันมาฆบูชาหรือไม่ หมายถึงวันใด มีความสําคัญอย่างไร

วันจาตุรงคสันนิบาต ใช่วันมาฆบูชาหรือไม่ หมายถึงวันใด มีความสําคัญอย่างไร

วันจาตุรงคสันนิบาต คือ วันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้น 4 อย่างในทางพระพุทธศาสนา ที่เกี่ยวข้องกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกผู้ละสิ้นกิเลส ล้วนแต่เป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา หรือแปลว่าพระพุทธเจ้าบวชให้ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือน 3 และได้กลายเป็นพุทธประเพณีที่ชาวไทยออกมาทำกิจกรรมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาได้อย่างไร มาติดตามได้ในบทความนี้

วันจาตุรงคสันนิบาต คือวันใด

นักวิจัยศูนย์พระพุทธศาสตร์ศึกษา ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้สืบค้นที่มาประเพณีพุทธปฏิบัติ “วันมาฆบูชา” กล่าวคือ เป็นวันที่มีความสำคัญอยู่ในพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือน ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โดยถือเอากิจกรรมพระราชกุศลมาฆบูชาในพระบรมมหาราชวัง เผยแพร่สู่ราษฎร

จาตุรงคสันนิบาตมีอะไรบ้าง

จาตุรงคสันนิบาต คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมกัน 4 ประการ (หรือเรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต 4) ได้แก่

1. พระสงฆ์ 1,250 รูป มาประชุมกันโดยไม่ได้นัดหมาย
2. พระสงฆ์ทั้งหมดล้วนเป็นเอหิกภิกขุอุปสัมปทา หรือหมายถึง พระพุทธเจ้าบวชให้
3. พระสงฆ์เหล่านี้ล้วนได้ อภิญญา 6 หรือหมายถึง ล้วนเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น
4. วันที่มาชุมนุมกันเป็นวันเพ็ญเดือนมาฆะ หรือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3

หลักธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดงธรรมในวันมาฆบูชา คือ “โอวาทปาฏิโมกข์” คือ

สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง
กุสะลัสสูปะสัมปะทา
สะจิตตะปะริโยทะปะนัง
เอตัง พุทธานะสาสะนัง
ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา
นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา
นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี
สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต
อะนูปะวาโท อะนูปะฆาโต
ปาติโมกเข จะ สังวะโร
มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง

ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง
อะธิจิตเต จะ อาโยโค
เอตัง พุทธานะสาสะนัง

ความหมายโอวาทปาติโมกข์

การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ ธรรม 3 อย่างนี้ เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า

ขันติ คือ ความอดกลั้น เป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง ผู้รู้ทั้งหลายกว่าพระนิพพานว่าเป็นธรรมอันยิ่ง ผู้กำจัดสัตว์อื่นอยู่ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ผู้ทำให้สัตว์อื่นลำบากอยู่ ไม่ถือว่าเป็นสมณะ การไม่พูดร้าย การไม่ทำร้าย การสำรวมในปาติโมกข์ ความเป็นผู้รู้ ประมาณในการบริโภค การนอน การนั่ง ในที่อันสงัด ความหมั่นประกอบในการทำจิตให้นิ่ง ธรรม 6 อย่างนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า

(ที่มา : มหาปทานสูตร พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค มหา. ที.๑๐/๔๐/๔๕)

วันจาตุรงคสันนิบาต มีความสําคัญอย่างไร

องค์ประกอบวันจาตุรงคสันนิบาตเผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เป็นผู้บันทึกเรื่องราวพระราชพิธีที่จัดขึ้นในพระนครตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องจัดพิธีพระราชกุศลมาฆบูชาได้อย่างถูกต้อง

“การมาฆบูชานี้ แต่เดิมก็ไม่ได้เคยทำมา เพิ่งเกิดขึ้น
เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรง
ตามแบบโบราณบัณฑิตได้นิยมไว้ว่า วันมาฆบุรณมี
พระจันทร์เสวยฤกษ์มาฆเต็มบริบูรณ์ เปนวันที่พระอรหันต์
พุทธสาวก 1,250 ได้มาประชุมกันพร้อมด้วยองค์สี่
ประการ เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต พระพุทธเจ้าได้ตรัส
เทศนาโอวาทปาฏิโมกข์ในที่ประชุมสงฆ์เปนการประชุม
ใหญ่ แลเปนการอัศจรรย์ในพระพุทธศาสนา นักปราชญ์
จึงได้ถือเอาเหตุนั้นกอบการสักการะบูชาพระพุทธเจ้าแล
พระอรหันต์ 1,250 พระองค์นั้น ให้เปนที่ตั้งแห่งความ
เลื่อมใสแลสังเวช การพระราชกุศลนั้นเวลาเช้า พระสงฆ์
วัดบวรนิเวศน์แลวัดราชประดิษฐ 30 รูป ฉันในพระอุโบสถ
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เวลาค่ำ เสด็จออกทรงจุดเทียน
เครื่องนมัสการแล้ว พระสงฆ์สวดทำวัตรเย็นเหมือนอย่าง
ที่วัดแล้ว จึงได้สวดมนต์ต่อไป มีสวดคาถาโอวาทปาฏิโมกข์
ด้วย สวดมนต์จบทรงจุดเทียนรายตามราวรอบพระอุโบสถ
1,250 เล่ม มีประโคมด้วยอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงได้มีเทศนา
โอวาทปาฏิโมกข์กัณฑ์ 1 เปนเทศนาทั้งภาษามคธแลภาษา
สยาม เครื่องกัณฑ์จีวรเนื้อดีผืนหนึ่ง เงิน 3 ตำลึงแลขนม
ต่างๆ เทศน์จบพระสงฆ์ซึ่งสวดมนต์รับสัพพีทั้ง 30 รูป การ
มาฆบูชานี้เปนเดือนสามบ้าง เดือนสี่บ้าง ตามวิธีปักขคณนา
ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย แต่คงอยู่ในเดือนสามโดยมาก
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกทุกปี
มิได้ขาด แต่ในแผ่นดินประจุบันนี้ เสด็จออกบ้าง ไม่ได้
ออกบ้าง เพราะมักจะเปนเวลาประสบกับที่เสด็จประพาศ
หัวเมืองบ่อยๆ ถ้าถูกคราวเสด็จพระราชดำเนินไปประพาศ”

บางปอิน ฤา พระพุทธบาท พระพุทธฉาย พระปฐมเจดีย์ พระแท่นดงรัง ก็ทรงทำมาฆบูชาในสถานที่นั้นๆ ขึ้นอีกส่วนหนึ่งต่างหากนอกจากในพระบรมมหาราชวังฯ

จาตุรงคสันนิบาต เกิดขึ้นในวันใด

วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ก่อนพระพุทธเจ้าปรินิพพาน 180 วัน หรือวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ก่อน พ.ศ. 1 คือวันจาตุรงคสันนิบาต แต่คำว่า “มาฆบูชา” อันหมายถึงการบูชาในวันเพ็ญเดือน 3 นั้น คือการรำลึกถึงวันจาตุรงคสันนิบาต ในปีต่อๆ มาที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว

ความแตกต่างในจุดนี้ จึงเป็นข้อสอบวิชาพระพุทธศาสนาให้เติมคำอธิบายเกี่ยวกับวันจาตุรงคสันนิบาตว่า วันจาตุรงคสันนิบาตคือวันใด

วันจาตุรงคสันนิบาต มีความสําคัญอย่างไร

วันจาตุรงคสันนิบาต คือวันที่เกิดจาตุรงคสันนิบาต 4 ตามที่กล่าวมาข้างต้น เป็นวันที่พระพุทธเจ้าแจ้งแก่พระอรหันต์ที่มาประชุมกัน 1,250 รูปโดยมิได้นัดหมายว่า “ต่อไปนี้อีก 3 เดือน เราจักเสด็จดับขันธปรินิพพาน” และประทาน “โอวาทปาติโมกข์” ดังนั้นสถานที่ ที่คาดว่าเป็นจุดชุมนุม จึงกลายเป็นสถานที่แสวงบุญของพุทธศาสนิกชนที่ต้องการเดินทางตามรอยพุทธสังเวชนียสถาน ไปยังจุดที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม นั่นก็คือ “วัดเวฬุวัน” ประเทศอินเดีย

ปัจจุบัน พุทธสังเวชนียสถาน จุดที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรม โอวาทปาติโมกข์ คาดว่าคือ ลานกำแพงอิฐ ในเมืองราชคฤห์ เป็นซุ้มเล็กๆ ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางประทานพร โดยชาวพุทธมักนิยมมาเวียนเทียนสักการะ

จากการค้นคว้าที่เผยแพร่ในวารสาร “ธรรมธารา” พบคำว่า “จาตุรงคสันนิบาต”ในคัมภีร์อรรถกถา แต่ไม่พบในคัมภีร์ชั้นพระไตรปิฎก จึงสันนิษฐานว่า เรื่องจาตุรงคสันนิบาตถูกเพิ่มเข้ามา ไม่เกี่ยวข้องกับตัวบทในคัมภีร์พระไตรปิฎก ซึ่งเป็นไปได้ว่า ในการบันทึกไว้สมัยก่อนอาจใช้คำอื่นและมีรายละเอียดต่างกัน แต่สรุปได้ว่า พิธีกรรมในวันมาฆบูชานั้น เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก คือ พระราชกุศลมาฆบูชาในพระราชนิพนธ์ “พระราชพิธีสิบสองเดือน” ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ซึ่งบันทึกเรื่องราวในรัชสมัยของพระบิดาไว้นั่นเอง

ที่มา : พงษ์ศิริ ยอดสา และ วิไลพร สุจริตธรรมกุล, จาตุรงคสันนิบาต (1): ที่มาของพุทธประเพณีมาฆบูชาในสังคมไทย., ธรรมธารา วารสารวิชาการทางพระพุทธศาสนา ปีที่ 8 ฉบับที่ 2 (ฉบับรวมที่ 15) ปี พ.ศ. 2565

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

คุณกำลังดู: วันจาตุรงคสันนิบาต ใช่วันมาฆบูชาหรือไม่ หมายถึงวันใด มีความสําคัญอย่างไร

หมวดหมู่: วัฒนธรรม

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด