วิธีดูแล "ผื่นผิวหนัง" จากอากาศร้อน

อาการร้อนๆ อาจทำให้ใครหลายคนที่ผิวแพ้ง่ายเกิดผื่นผิวหนังขึ้นมาได้ เราจะมีวิธีดูแลรักษาอย่างไรให้ผื่นหายไวๆ

วิธีดูแล "ผื่นผิวหนัง" จากอากาศร้อน

ช่วงฤดูร้อน ถือเป็นช่วงที่ความร้อนจะสูงมากที่สุด เพียงแค่คุณออกไปโดยแดดเป็นเวลาไม่นานก็จะรู้สึกแสบผิวแล้ว นอกจากนั้นยังมีเหงื่อออกทำให้เกิดความรู้สึกเหนอะหนะตลอดทั้งวันอีกด้วย สำหรับบางคนสิ่งที่มาคู่กับฤดูร้อนก็คือ ผื่นผิวหนังในช่วงฤดูร้อน ซึ่งสามารถจำแนกเป็นหลายชนิดด้วยกัน หากคุณสงสัยว่าเมื่อเกิดผื่นเหล่านี้ขึ้นจะมีวิธีการดูแลอย่างไรบ้าง ลองติดตามได้ในบทความจาก Hello คุณหมอ

ทำความรู้จักกับ "ผื่นผิวหนัง" ในช่วงฤดูร้อน

แน่นอนว่าแสงแดดสามารถสร้างความเสียหายให้กับผิวของคุณ ดังนั้นคุณจึงควรทาครีมกันแดดและทำตามขั้นตอนอื่นๆ เพื่อป้องกันผิวไหม้ แต่ปัญหาอีกอย่างที่มักจะมาพร้อมกับฤดูร้อนนั่นก็คือ ผื่นผิวหนังในช่วงฤดูร้อน ซึ่งมันอาจจะเป็นสาเหตุของผิวหนังอักเสบ ซึ่งผื่นผิวหนังในช่วงฤดูร้อนนั้นมีหลายชนิดด้วยกัน ดังนี้

  • ผื่นดำแพ้แสง (Phytophotodermatitis หรือ Margarita dermatitis)

ผื่นดำแพ้แสงแดด หรือบางครั้งจะถูกเรียกว่า “โรคผิวหนังมาร์การิต้า” มันสามารถเกิดขึ้นได้เมื่อสารประกอบในผลิตภัณฑ์ที่คุณใช้ทาลงบนผิวมีส่วนผสมของมะนาว หรือสารประกอบเคมีฟูโรคูมาริน (Furocoumarin) ซึ่งสามารถพบได้ในผลไม้รสเปรี้ยวอื่นๆ และพืชอื่นๆ อีกจำนวนมาก เมื่อมันถูกกระตุ้นด้วยรังสียูวีเอ (UVA) ทำให้เกิดผื่นไหม้ภายในไม่กี่ชั่วโมง

คุณอาจจะเกิดแผลพุพอง หรือผื่นแดงคันบริเวณผิวหนัง โดยอาการแย่ที่สุดจะเกิดขึ้นภายใน 2-3 วัน ยิ่งบริเวณที่ผิวของคุณสัมผัสกับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของมะนาวโดยตรง ผื่นอาจปรากฏเป็นหยดน้ำ เป็นริ้ว หรือรูปแบบที่ผิดปกติอื่นๆ เมื่อแผลหายดีแล้ว ผิวหนังของคุณอาจมีสีเข้มขึ้น หรือมีรอยด่างดำ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะหายไป หากคุณกังวลกับเรื่องแผล แนะนำให้ไปปรึกษากับคุณหมอเกี่ยวกับการใช้ครีมสเตียรอยด์เฉพาะที่ และการประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการปวด

  • ผื่นแพ้ทะเล (Seabather's eruption)

ผื่นแพ้ทะเลจะสังเกตเห็นได้ใต้ชุดว่ายน้ำของคุณหลังจากที่แช่ตัวอยู่ในทะเล ซึ่งผื่นชนิดนี้มักจะรู้จักกันโดยทั่วไปว่า “แตนทะเล” ผื่นนี้เกิดขึ้นเมื่อแมงกะพรุน หรือดอกไม้ทะเลมาติดที่ชุดว่ายน้ำของคุณ แล้วปล่อยเซลล์ที่ใช้ในการกัดต่อยหรือฉีดสารพิษออกมา จะทำให้เกิดอาการแพ้ที่ผิวหนัง ซึ่งคุณอาจจะมีความรู้สึกเสียดแทงขณะว่ายน้ำ ภายในเวลา 4-24 ชั่วโมง จะมีตุ่มแดง ตุ่มคัน ที่ดูเหมือนแมลงกัดต่อย หรือลมพิษปรากฏขึ้นบริเวณที่ถูกชุดว่ายน้ำปกคลุมอยู่

เนื่องจากสิ่งมีชีวิตเหล่านี้มักจะขับพิษออกมาในน้ำจืด ดังนั้น จึงควรถอดชุดว่ายน้ำ และอาบน้ำทันทีหลังจากว่ายน้ำในทะเล ล้างชุดว่ายน้ำให้สะอาดในน้ำร้อน เพื่อกำจัดสิ่งมีชีวิตที่อาจจะหลงเหลืออยู่ นอกจากนั้นควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับการใช้ยาต้านฮีสตามีนหรือคอร์ติโซนเฉพาะที่ เพื่อบรรเทาอาการคัน แต่หากต้องใช้ยาเหล่านี้กับเด็ก ควรจะต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการใช้ครีมบริเวณขาหนีบและใบหน้า

  • ผื่นหอยคัน (Cercarial dermatitis หรือ Swimmer's itch)

ผื่นหอยคันนี้จะเกิดขึ้นกับผู้ที่ชอบเล่นน้ำตามธรรมชาติ ผื่นมักจะเกิดขึ้นในบริเวณที่ชุดว่ายน้ำไม่ได้ปกคลุม ผื่นนี้มีสาเหตุมาจากปรสิตที่อยู่บนหอยทาก การติดเชื้อนั้นสามารถติดได้จากน้ำอุ่น น้ำจากทะเลสาบ ลำธาร หรือในมหาสมุทร เมื่อน้ำโดนกับผิวหนังก็จะทำให้เกิดอาการแพ้ ปรากฏเป็นรอยแดงเล็กๆ หรือรอยแดงขนาดใหญ่

สำหรับการบรรเทาอาการคัน สามารถทำได้โดย อาบน้ำด้วยดีเกลือ (Epsom Salt) ข้าวโอ๊ตบด ทาเบกกิ้งโซดา หรือประคบเย็นลงบนผิวหนังที่ได้รับผลกระทบ แต่ถ้าทำแล้วยังมีอาการคันอยู่ก็ควรไปพบคุณหมอ เพื่อปรึกษาว่าสามารถใช้ยาต้านฮีสตามีนหรือคอร์ติโซนตามร้านขายยาทั่วไป มาใช้ทาเฉพาะบริเวณที่เกิดอาการได้หรือไม่

นอกจากนั้นคุณยังสามารถหลีกเลี่ยงผื่นหอยคันได้ โดยพยายามอยู่ห่างจากบริเวณที่มีหอยทากอาศัยอยู่ ตามข้อมูลของ American Academy of Dermatology ปรสิตมักจะเข้าสู่ผิวหนังเมื่อน้ำระเหย ดังนั้น ให้ใช้ผ้าขนหนูถูผิวอย่างรวดเร็วทันทีที่คุณขึ้นจากน้ำ จากนั้นถอดชุดว่ายน้ำ และอาบน้ำโดยเร็วที่สุด

  • ผื่นในอ่างน้ำร้อน หรือ รูขุมขนอักเสบ (Hot tub rash หรือ Folliculitis)

เมื่อคุณแช่ในน้ำที่ปนเปื้อนด้วยแบคทีเรียซูโดโมแนส ออรูจิโนซา (Pseudomonas aeruginosa) ภายใน 1-2 วัน คุณอาจจะมีผื่นเกิดขึ้นที่ผิวหนัง ซึ่งผื่นนี้จะเรียกว่า “รูขุมขนอักเสบในอ่างน้ำร้อน” ซึ่งพบได้บ่อยในอ่างน้ำร้อนนั่นเอง เนื่องจากน้ำร้อนจะสลายคลอรีนที่ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย แต่ผื่นนี้ยังสามารถเกิดขึ้นได้หลังจากว่ายน้ำในสระว่ายน้ำที่ได้รับการดูแลไม่ดีหรือทะเลสาบที่ปนเปื้อนได้อีกด้วย

อาการของผื่นในอ่างน้ำร้อน ได้แก่ ผื่นแดงคันจากการกระแทก มีขนาดเล็กหน่วยเป็นมิลลิเมตร ซึ่งอาการจะแย่ลงในบริเวณที่สวมชุดว่ายน้ำ คุณอาจจะสังเกตเห็นผื่นคันรอบๆ รูขุมขน แม้ว่าผื่นชนิดนี้จะสามารถหายได้เอง แต่คุณก็ควรไปพบคุณหมอ หากมันไม่หายไปภายใน 2-3 วัน คุณหมออาจจะสั่งยาปฏิชีวนะให้คุณกิน

  • ผื่นร้อน

ผื่นร้อน หรือผด เกิดขึ้นเมื่อเหงื่อเข้าไปอุดตันในรูขุมขนและสะสมใต้ผิวหนัง ปัญหาของผื่นชนิดนี้มักจะเกิดขึ้นในเด็กทารก แต่ความจริงแล้วมันสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกวัย เมื่อคุณต้องออกไปข้างนอก ซึ่งมีอากาศที่ร้อนและชื้น ลักษณะของผื่นร้อนนั้นจะปรากฏเป็นตุ่มแดงเล็กๆ หรือตุ่มใสที่แตกได้ง่าย มีแนวโน้มที่จะเกิดได้มากที่สุดในบริเวณผิวหนังที่มีการถูกกัน เช่น รักแร้ ข้อศอก และขาหนีบ ผื่นร้อนมักจะหายไปเอง แต่คุณสามารถบรรเทาอาการคันได้ด้วยการถอดเสื้อผ้ารัดรูป และทำให้ผิวหนังเย็นลง

พยายามทำให้เหงื่อออกน้อยลง เช่น สวมเสื้อผ้าฝ้ายที่มีน้ำหนักเบา และหลวม ใช้มอยส์เจอไรเซอร์ โลชั่น แทนที่จะใช้ครีม หรือขี้ผึ้งซึ่งจะหนักกว่า พยายามอยู่ในร่วมหรืออาคารที่มีเครื่องปรับอากาศ เมื่ออากาศภายนอกร้อนที่สุด เพื่อป้องกันผื่นจากความร้อน

  • ผื่นหลายรูปแบบจากแสงแดด (Polymorphous light eruption)

ผู้ที่มีความไวต่อแสงแดดเมื่อสัมผัสกับรังสียูวีที่เข้มข้น อาจทำให้เกิดผื่นที่แตกออกเป็นก้อนคล้ายกับรังผึ้ง หรือที่เรียกว่า “ผื่นหลายรูปแบบจากแสงแดด” โดยผื่นจะปรากฏบริเวณหน้าอก คอ แขน และใบหน้า พบบ่อยที่สุดในผู้หญิงและผู้ที่มีผิวขาว โดยจะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในแต่ละฤดู

เพื่อบรรเทาอาการคันควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับการกินยาแก้แพ้ หรือทาครีมแก้คัน ในกรณีที่รุนแรงคุณหมออาจจะสั่งยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่ การป้องกันการเกิดผื่นหลายรูปแบบจากแสงแดดก็คือ พยายามอยู่ในที่ร่มให้มากที่สุด ในช่วง 10.00-14.00 น. เมื่อจำเป็นต้องอยู่ข้างนอกให้คลุมผิวด้วยเสื้อผ้าสีอ่อน และทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30+ ในบริเวณที่ต้องสัมผัสกับแดด แม้ครีมกันแดดจะสามารถช่วยได้ แต่ก็ช่วยได้ไม่มากนัก เนื่องจากรังสียูวีเอ (UVA) สามารถทำให้เกิดผื่นหลายรูปแบบจากแสงแดดได้

  • แผลพุพอง (Cold sores)

แผลพุพองคือการติดเชื้อไวรัสของแผลที่เต็มไปด้วยของเหลวขนาดเล็กที่รอบริมฝีปาก หากคุณเคยมีแผลพุพองมาก่อน คุณอาจจะสังเกตเห็นว่า มันสามารถกลับมาเป็นซ้ำบ่อยขึ้นเมื่อถึงฤดูร้อน ที่เป็นเช่นนั้นก็เนื่องจากการโดนแสงแดด ซึ่งผู้คนจำนวนมากมักไม่ค่อยรู้ว่าดวงอาทิตย์เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดแผลพุพอง

ดังนั้น อย่าลืมทาครีมกันแดดบนริมฝีปาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณมีประวัติเป็นโรคเริม และถ้ารู้สึกว่ามีอาการเป็นไข้ให้แจ้งให้คุณหมอทราบ การกินยาต้านไวรัสภายใน 24-36 ชั่วโมงแรกหลังเริ่มมีอาหารจะช่วยป้องกันหรือชะลอการเกิดแผลพุพองได้

วิธีการดูแลตัวเองเมื่อเกิด ผื่นผิวหนังในช่วงฤดูร้อน

ผื่นผิวหนังในช่วงฤดูร้อนส่วนใหญ่จะไม่เป็นอันตรายและจะหายไปเองหลังจากผ่านไป 2-3 วัน ผื่นส่วนใหญ่สามารถรักษาได้อย่างปลอดภัยและสามารถทำได้ที่บ้าน โดยลองทำตามขั้นตอนเหล่านี้

  1. สวมเสื้อผ้านุ่มๆ หลวมๆ ที่ไม่กักความร้อนและความชื้น เสื้อผ้าที่ทำจากผ้าธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้าย เป็นสิ่งที่ดีที่สุด
  2. ใช้เวลาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เย็น มีเครื่องปรับอากาศ หรือมีอากาศถ่ายเทสะดวก
  3. อาบน้ำเย็น หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อนจัด
  4. ถามแพทย์หรือเภสัชกรว่ามีครีมหรือยาเม็ดที่จะช่วยบรรเทาอาการผื่นได้หรือไม่
  5. อย่าเกาบริเวณที่ได้รับผลกระทบ เพราะอาจทำให้อาการแย่ลงและติดเชื้อได้
  6. ดื่มน้ำในปริมาณที่มากๆ ในสภาพอากาศที่ร้อน
  7. พยายามตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณได้พยายามป้องกันไม่ให้ผิวหนังโดนแสงแดดให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้

คุณกำลังดู: วิธีดูแล "ผื่นผิวหนัง" จากอากาศร้อน

หมวดหมู่: รู้ทันโรค

แชร์ข่าว