วิธีดูแลตนเอง เมื่อเป็น “ร้อนใน”

อยากให้แผลร้อนในหายไวๆ ต้องทำตามนี้

วิธีดูแลตนเอง เมื่อเป็น “ร้อนใน”

เชื่อว่าในชีวิตนี้ หลายคนจะต้องเคยเป็น “ร้อนใน” มาก่อนอย่างน้อย 1 ครั้ง แม้ว่าร้อนในจะไม่ใช่โรคที่ร้ายแรงอะไร และก็ดูเหมือนจะเป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่เมื่อมีอาการ ก็จำเป็นต้องมีวิธีการดูแลที่ถูกต้อง

อาการร้อนใน (Aphthous Ulcer) คือ อาการที่เป็นแผลร้อนบวมแดงในช่องปาก เกิดขึ้นได้ทุกบริเวณในช่องปาก อาจเป็นกระพุ้งแก้ม ริมฝีปากด้านใน หรือลิ้น ลักษณะของแผลจะเป็นสีเหลืองหรือขาวเป็นวงกลมหรือวงรี รอบนอกมีลักษณะบวมแดง ซึ่งจะทำให้มีอาการเจ็บแสบในช่องปาก ในบางคนอาจจะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น รู้สึกเหมือนไม่สบาย เป็นไข้ หรือมีหนองในช่องปาก ขึ้นอยู่กับขนาดและความรุนแรงของแผล

ร้อนใน เป็นอาการที่สามารถพบได้ค่อนข้างบ่อย เป็นๆ หายๆ อยู่เป็นประจำ ผู้ป่วยมักจะเริ่มป่วยครั้งแรกในช่วงวัยหนุ่มสาว พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อย่างไรก็ตาม หากพบอาการร้อนในในคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งในช่องปากได้เหมือนกัน

แม้ว่าอาการร้อนในจะไม่ได้มีอันตรายหรือภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง แต่มักจะสร้างความรำคาญและเจ็บปวดในเวลากินอาหารหรือลำบากในการดำรงชีวิต ทั้งการพูด การแปรงฟัน เป็นต้น

สาเหตุของการเกิดแผลร้อนใน

แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่สามารถหาสาเหตุการเกิดแผลร้อนในอย่างชัดเจน แต่มีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการร้อนในได้ เช่น

  • กรรมพันธุ์ ผู้ป่วยที่มีอาการร้อนในบ่อยๆ ประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ พบว่ามีคนในครอบครัวเคยเป็นด้วย จึงเชื่อได้ว่าแผลร้อนในสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
  • การได้รับบาดเจ็บในช่องปาก เช่น การเผลอกัดปากตัวเอง การระคายเคืองเมื่อโดนแปรงสีฟันกระแทก หรือกินอาหารแข็งๆ แล้วไปกระทบกระแทกในช่องปาก
  • การแพ้สารเคมีบางอย่างในผลิตภัณฑ์สำหรับช่องปาก เช่น ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก
  • นอนน้อย
  • เครียด
  • ดื่มน้ำน้อย
  • การขาดสารอาหาร หากร่างกายขาดวิตามินหรือเกลือแร่บางชนิดก็เป็นสาเหตุให้เกิดอาการร้อนในได้เช่นกัน เช่น ธาตุเหล็ก สังกะสี กรดโฟลิก วิตามินบี 12
  • การรับประทานอาหารที่มีรสจัดหรือฤทธิ์ร้อน รวมถึงการแพ้อาหารบางชนิด เช่น นมวัว ช็อกโกแลต กาแฟ เป็นต้น
  • การติดเชื้อในช่องปาก เป็นได้ทั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับการที่ร่างกายมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำได้ด้วย
  • การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน เช่น เกิดในผู้หญิงที่มีประจำเดือน

การรักษาอาการร้อนใน

อาการร้อนในสามารถรักษาด้วยตนเองได้ เนื่องจากแผลสามารถหายได้เอง ด้วยวิธีการดังนี้

  • บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ ด้วยการผสมเกลือ 1 ช้อนชาต่อน้ำ 1 แก้ว ใช้บ้วนปากวันละ 2-3 ครั้ง สรรพคุณของน้ำเกลือจะช่วยลดแบคทีเรียในช่องปาก และช่วยรักษาแผลได้
  • ใช้แปรงสีฟันขนนุ่ม และงดผลิตภัณฑ์สำหรับช่องปากที่ทำให้แสบปาก เพื่อให้เกิดการอักเสบในช่องปากน้อยที่สุด อย่างแปรงสีฟันอาจไปกระแทกอย่างแรง หรือพวกผลิตภัณฑ์สำหรับช่องปากที่แสบปากจะยิ่งทำให้แผลอักเสบมากขึ้น อีกทั้งต้องรักษาความสะอาดในช่องปากให้ดีเพื่อลดภาวะการติดเชื้อ
  • การกินอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อย่างพวกอาหารเผ็ด อาหารที่มีความเป็นกรดสูง อาหารรสเปรี้ยว ของร้อน รวมทั้งอาหารที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองแผลอย่างของทอดหรืออาหารแข็ง แต่ให้หันไปกินอาหารที่มีฤทธิ์เย็นและอาหารรสอ่อนแทน
  • จิบน้ำบ่อยๆ อย่างน้อยที่สุดคือวันละ 8-10 แก้ว แต่ให้ใช้วิธีจิบทีละน้อย จิบบ่อยๆ แทน
  • พักผ่อนมากๆ การพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายไม่สามารถซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอได้อย่างเต็มที่ ซึ่งก็จะทำให้แผลร้อนในหายช้าด้วย
  • พยายามไม่เครียด ความเครียดเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ร่างกายทำงานผิดปกติ ที่สำคัญ การเกิดแผลร้อนในยังสัมพันธ์กับระดับความเครียดที่เกิดขึ้น ออกกำลังกายบ้างตามโอกาส
  • กินวิตามิน เกลือแร่ หรืออาหารเสริม การเกิดร้อนในในบางคนนั้นมาจากการขาดสารอาหาร อย่างการขาดธาตุเหล็ก สังกะสี วิตามินบี 12 และกรดโฟลิก ฉะนั้น ควรกินอาหารที่มีสารอาหารเหล่านี้ และกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ
  • การใช้ยา มียาที่ใช้สำหรับทาในปากเพื่อช่วยรักษาแผลร้อนใน อย่างยาป้ายปากประเภทสเตียรอยด์ ไตรแอมซิโนโลน อะเซโทไนด์ (Triamcinolone acetonide) ที่ต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ หรือยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของยาเดกซาเมทาโซน (Dexamethasone) หรือยาลิโดเคน (Lidocaine) ที่ช่วยลดการอักเสบและความเจ็บปวด หรือไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) ที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป นอกจากนี้ หากมีอาการปวดให้กินยาแก้ปวดได้

รักษาเองไม่หายต้องไปพบแพทย์

ปกติอาการร้อนในจะหายได้เองใน 1-2 สัปดาห์ อาจจะมีอาการแสบร้อน เจ็บปวดบ้าง แต่ถ้าหากแผลไม่หายภายใน 3 สัปดาห์ หรือมีอาการรุนแรงขึ้น อาจเกิดจากการติดเชื้อ หากเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย จะทำให้แผลหายช้า หรือมีผลข้างเคียงต่างๆ ในกรณีที่เป็นแผลร้อนในแบบแผลใหญ่หรือแผลแบบโรคเริม ก็อาจจะเกิดจากการติดเชื้อได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม แผลร้อนในอาจเป็นอาการแฝงของโรคอื่น เช่น มะเร็งในช่องปาก ดังนั้น หากรักษาเองแล้วไม่ได้ผลก็ต้องไปพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยและทำการรักษาต่อไป

การวินิจฉัยของแพทย์ แพทย์ก็จะดูแผลในช่องปากและตรวจร่างกาย ในรายที่แพทย์สงสัยว่าอาจเป็นอาการแฝงของโรคมะเร็งในช่องปาก แพทย์จะเก็บสารคัดหลั่ง หรือเซลล์เนื้อเยื่อ หรือตัดชิ้นเนื้อจากปากแผลไปทำการตรวจในห้องปฏิบัติการตรวจโรค

คุณกำลังดู: วิธีดูแลตนเอง เมื่อเป็น “ร้อนใน”

หมวดหมู่: รู้ทันโรค

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด