อันตรายจากการทาน “แคลเซียมเสริม” มากเกินไป
ทานแคลเซียมเสริมสร้างกระดูกเป็นสิ่งที่ดี แต่อาจส่งผลเสียหากทานมากเกินไป
แคลเซียม เป็นหนึ่งในสารอาหารที่มีความจำเป็นต่อร่างกายในหลายๆ ด้าน แต่ด้านที่คนรู้มากที่สุด คือการเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง ดังนั้นจึงไม่แปลกหากพ่อแม่ปลูกฝังให้ลูกน้อยดื่มนมตั้งแต่เด็กๆ ด้วยเพราะอยากให้ตัวสูงใหญ่แข็งแรง ส่วนวัยทำงานไปจนถึงวัยชราก็ยังต้องการแคลเซียมเพื่อรักษาความแข็งแรงของกระดูกให้อยู่กับไปตราบที่ร่างกายยังไหว
อย่างไรก็ตาม การทานแคลเซียมเสริมมากเกินไป จนทำให้ร่างกายได้รับแคลเซียมมากเกินความจำเป็น ก็ส่งผลเสียต่อร่างกายได้เหมือนกัน
ความสำคัญของแคลเซียม
ศาสตราจารย์ ดร.นพ.นรัตถพล เจริญพันธุ์เมธีวิจัยอาวุโส สกว. หัวหน้าหน่วยวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูกคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อร่างกายทุกระบบ ไม่ว่าจะเป็น ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท รวมถึงการหดตัวของกล้ามเนื้อและการส่งสัญญาณภายในเซลล์ แคลเซียมกว่าร้อยละ 99 เก็บสะสมภายในกระดูกทั่วร่างกาย จึงใช้ตัวชี้วัดที่เรียกว่า "ความหนาแน่นของกระดูก" รวมถึงคาดการณ์ถึงความแข็งแรงและความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหัก ที่สำคัญคือ มีหลายโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุที่ลดการสร้างกระดูกแต่กระตุ้นการสลายกระดูก ทั้งความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันสูงในเลือด โรคอ้วน เป็นต้น
อันตรายจากการทานแคลเซียม “น้อยเกินไป”
กระดูกจะมีความหนาแน่นสูงสุดที่อายุประมาณ 30 ปี และจะค่อนข้างคงที่อีก ประมาณ 15-20 ปี จากนั้นจะเริ่มลดลงโดยเฉพาะในผู้หญิงที่ขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนหลังหมดประจำเดือน หากเรารับประทานแคลเซียมไม่เพียงพอ กระดูกจะเริ่มสูญเสียแคลเซียมอย่างรวดเร็วจนเกิดกระดูกพรุน และกระดูกหักได้ ปัจจัยที่ทำให้ผู้สูงวัยกระดูกพรุน ทั้งจากอายุที่มากขึ้น โรคในผู้สูงอายุทั้งความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันสูงในเลือด อ้วน และโรคทางเมตาบอลิซึม เป็นต้น
iStock
เราควรทานแคลเซียมเสริมหรือไม่
ปัจจุบันคนไทยโดยทั่วไปรับประทานแคลเซียมต่อวันไม่ถึงปริมาณที่แนะนำ (800 มิลลิกรัม สำหรับผู้ใหญ่) การพัฒนาอาหารเสริมแคลเซียมหรือผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียมที่ดูดซึมได้ดีจึงจำเป็น และยังเป็นทางเลือกในการเสริมแคลเซียมสำหรับผู้ที่จำเป็นต้องได้รับแคลเซียมเสริมตามข้อบ่งชี้ของการรักษาและป้องกันโรคอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม เราควรรับประทานแคลเซียมเสริมหรือยาเม็ดแคลเซียมก็ต่อเมื่อมีข้อบ่งชี้ชัดเจน เช่น มีหลักฐานที่แสดงว่าขาดแคลเซียม ความหนาแน่นของกระดูกลดต่ำลงจนเข้าข่ายเป็นโรคกระดูกพรุน มีความเสี่ยงจะเกิดกระดูกหัก ส่วนในเด็กหรือผู้ใหญ่ที่ยังไม่สูงอายุ ควรรับประทานแคลเซียมตามที่สำนักโภชนาการ กรมอนามัยแนะนำ
อันตรายจากการทานแคลเซียมเสริม “มากเกินไป”
ผู้ที่รับประทานแคลเซียมเกินกว่าปริมาณที่แนะนำ โอกาสเกิดโทษจากแคลเซียมเกินขนาดก็ยังไม่สูงมากนัก (เว้นแต่รับประทานสูงกว่าปกติ 2-3 เท่าขึ้นไป) เช่น อาจเพิ่มโอกาสที่ทำให้เกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ หรือเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจหรือโรคทางสมองบางชนิดได้ ทั้งนี้ในร่างกายมีกลไกระดับเซลล์และการใช้ฮอร์โมนในการควบคุมอัตราการดูดซึมแคลเซียม จากอาหารเข้าสู่ร่างกาย หากดูดซึมมากเกินไปเซลล์ของลำไส้จะมีการสร้างสารเคมี "ไฟ โบรบลาสต์โกรทแฟคเตอร์-23" เพื่อยับยั้งการดูดซึมแคลเซียม เป็นต้น
ทานแคลเซียมเสริมอย่างไรให้ปลอดภัย
ควรเลือกทานแคลเซียมเสริมต่อเมื่อได้รับคำแนะนำจากแพทย์เท่านั้น โดยสามารถสอบถามกับแพทย์ในช่วงที่ตรวจสุขภาพประจำปีได้ว่าควรรับการเสริมแคลเซียมหรือไม่ และมากเท่าไร เพื่อป้องกันการเสริมแคลเซียมมากเกินความจำเป็น
คุณกำลังดู: อันตรายจากการทาน “แคลเซียมเสริม” มากเกินไป
หมวดหมู่: รู้เรื่องยา