อันตรายของ “ชา” เสี่ยงไตวาย-มะเร็งลำไส้-กระดูกพรุน
ดื่มชาอย่างไรไม่ให้เกิดโทษต่อร่างกาย
ชา ไม่ว่าจะเป็นชาร้อน หรือชาเย็น ล้วนเป็นเครื่องดื่มที่หลายคนดื่มแทบจะทุกวัน และแทบจะขาดไม่ได้เช่นกัน แต่ทราบหรือไม่ว่าหากดื่มชาไม่ถูกวิธี หรือไม่มีความระมัดระวังในการดื่ม อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายมากมาย เพราะชาไม่ได้มีแค่คาเฟอีนอย่างเดียวเท่านั้น
ชา... ดีมีประโยชน์?
แน่นอนว่าในน้ำชามีสารอาหารดีๆ อยู่มากมายที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แต่การดื่มที่ผิดวิธีทำให้เราไม่ได้รับสารอาหารจากชาอย่างที่ตั้งใจ เช่น
- การดื่มน้ำชาที่ร้อนจัด ความร้อนของน้ำจะทำลายสารคาเทคชินส์ (Catechins) ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายในการต้านมะเร็ง หรือชะลอความเสื่อมของเซลล์ในร่างกายไปจนหมด
- การดื่มชาเขียวบรรจุขวด ที่ผ่านกระบวนการต้ม และฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ก่อนบรรจุขวด ทำให้สารอาหารสำคัญของชาถูกทำลาย หรือลดน้อยลงไปเช่นกัน
- การดื่มชาใส่นม ไม่ว่าจะเป็นชาร้อน หรือชาเย็น ก็ไม่สามารถให้ประโยชน์ต่อร่างกายได้เช่นกัน เพราะโปรตีนในนมจะเข้าไปจับกับสารสำคัญในชา และทำลายประสิทธิภาพสารออกฤทธิ์ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เรียกได้ว่าแทบไม่ได้ประโยชน์ใดๆ จากการดื่มชาใส่นมเลย
- ดื่มชาควบคู่ไปกับการทานวิตามินเสริม สาระสำคัญในชาจะตกตะกอนธาตุเหล็ก หรือเกลือแร่ไม่ให้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย
- ดื่มชาควบคู่ไปกับการทานอาหาร แร่ธาตุต่างๆ จากผักใบเขียว และผลไม้จะถูกสาระสำคัญจากชาจับไว้ ไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายเช่นเดียวกัน
- เด็กที่ดื่มชา จะถูกสาระสำคัญอย่างแทนนิน เข้าไปตกตะกอนโปรตีน และแร่ธาตุจากอาหารที่ทาน ไม่ให้ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย จึงเสี่ยงภาวะขาดสารอาหารได้
- ในชายังมีปริมาณของฟลูออไรด์ที่ค่อนข้างสูง สูงกว่าในน้ำประปา หากดื่มชาเป็นประจำอาจเกิดการสะสมจนทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคไตวาย มะเร็งลำไส้ กระดูกพรุน โรคข้อ และโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระดูก รวมไปถึงกรดออกซาลิกที่อาจทำให้ร่างกายมีความเสี่ยงต่อโรคนิ่วในไตอีกด้วย
อ่านต่อ >> จริงหรือไม่? ชาเย็น ดื่มมากแล้วจะเป็นนิ่วในไต?
- สารออกซาเรทในชา หากมีการสะสมในร่างกายมากๆ อาจส่งผลอันตรายต่อไตได้
ดื่มชาอย่างไร ให้ได้ประโยชน์ และหลีกเลี่ยงโทษต่างๆ
หากอยากดื่มชาให้ได้ประโยชน์ในเรื่องของวิตามินต่างๆ และสารคาเทคชินส์ที่ช่วยต้านมะเร็ง และลดความเสื่อมของเซลล์ในร่างกาย ไม่ควรดื่มชาที่ร้อนจัดจนเกินไป และควรดื่มในปริมาณที่น้อย แต่เข้มข้น เหมือนเดิมเอสเปรสโซ่ช็อตสำหรับผู้ที่ดื่มกาแฟ การดื่มชาเข้มข้นแบบที่ไม่เจือจาง จะทำให้เราได้รับคุณค่าทางสารอาหารจากชาเต็มๆ ไม่ควรใส่สารปรุงแต่งอื่นๆ ทั้งน้ำตาล และนม ควรชงชาจากใบชาเอง ไม่ดื่มชาไปพร้อมกับอาหาร หรือทานวิตามินเสริม ไม่ให้เด็กดื่มชา หรือให้ดื่มเพียงเล็กน้อย และไม่ควรดื่มชาในปริมาณมาก หรือติดต่อกันนานจนเกินไป เพราะอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงโรคที่เกี่ยวกับไต และกระดูกได้
คุณกำลังดู: อันตรายของ “ชา” เสี่ยงไตวาย-มะเร็งลำไส้-กระดูกพรุน
หมวดหมู่: สุขภาพ