ยางคือชีวิต ตอน เรื่องควรรู้ของยางรถยนต์

ส่อง เมื่อไหร่ควรเปลี่ยนยาง อะไรคือตัวการที่ทำให้ยางสึกหรอเร็ว และวิธีขับเพื่อยืดอายุการใช้งานยางรถยนต์

ยางคือชีวิต ตอน เรื่องควรรู้ของยางรถยนต์

เคยบอกหลายครั้งแล้วว่า ยางคืออุปกรณ์ที่มีความสำคัญในลำดับต้นๆ ของการใช้รถยนต์ ยางต้องรับภารกรรมหนักหนาสาหัสในการรับน้ำหนักรถทั้งคัน ต้องเจอกับผิวถนนที่มีความหลากหลาย รวมถึงการขับใช้งานที่ผิดวิธีจากเจ้าของรถ ยางมีความสำคัญกับสมรรถนะของช่วงล่างและประสิทธิภาพของการเบรก ซึ่งเป็นเรื่องความปลอดภัยที่ไม่ควรละเลย แม้รถจะมีศักยภาพสูง มีช่วงล่างชั้นเยี่ยม แต่ถ้าใส่ยางที่ไร้ประสิทธิภาพก็อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ หากยางหมดสภาพก็ไม่สามารถถ่ายเทแรงบิดได้หมด บั่นทอนประสิทธิภาพการทรงตัว มีระยะเบรกมากขึ้น

เมื่อใช้งานรถยนต์ไปสัก 35,000-40,000 กิโลเมตร ยางจะเริ่มต้นการเสื่อมสภาพตั้งแต่วันแรกที่ใส่ ไปจนถึงหมดอายุการใช้งานเมื่อผ่านระยะทางที่กล่าวมาจนถึง 40,000 กิโลเมตร สภาพถนนและการขับเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ยางเสื่อมสภาพ ยางหมดสภาพ หากสังเกตด้วยสายตาก็จะพบว่า ดอกยางหดหายไปจนแทบจะกลายเป็นยางหัวโล้น หากขับบนเส้นทางที่เปียกลื่นจากฝนตกก็อาจเสียหลักจนควบคุมทิศทางไม่ได้ แล้วไปจบลงด้วยอุบัติเหตุหนักๆ สังเกตบริเวณร่องของดอกยางจะมีการทำเป็นสะพานเชื่อมระหว่างดอกยางให้ไว้สังเกตการสึกหรอของดอกยาง เมื่อเห็นว่าดอกยางสึกจนไปถึงสะพานเชื่อมแบบนี้ไม่ควรใช้งานต่อ ยางที่ผ่านการใช้งานมานาน 3-4 ปี แม้จะไม่ค่อยได้ขับ ใช้รถน้อย แต่เนื้อยางก็เสื่อมสภาพจนไม่สมควรนำกลับมาใช้งาน

ภูมิอากาศของประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น มีทั้งฝนตกและร้อนทะลุ 43 องศาฯ บนผิวถนนที่มีการดูดความร้อน ในบางวันของช่วงที่มีอากาศร้อนจัด อาจมีอุณหภูมิพื้นผิวถนนสูงถึง 60 องศาฯ อากาศร้อนไม่ส่งผลกระทบกับการกระจายความร้อนที่เกิดขึ้นภายในตัวยาง แต่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการระบายความร้อนออกไปจากยาง เมื่ออุณหภูมิของยางขึ้นถึงจุดสูงสุดอาจกระจายระบายความร้อนออกไปไม่ทัน จึงมีการใช้ส่วนผสมในเนื้อยางที่ทำให้เกิดความร้อนลดลงและกระจายความร้อนได้ดีขึ้น ยางที่ใช้ในประเทศไทยส่วนใหญ่ทนต่อความร้อนได้ดี

สภาพเส้นทางที่เต็มไปด้วยโค้งขึ้น-ลงเขาวกวน คนขับต้องเร่ง เลี้ยว เบรก อยู่ตลอดเวลา ยางต้องรับแรงมากกว่าการขับตรงๆ บนไฮเวย์ เส้นทางในลักษณะดังกล่าวเป็นตัวบั่นทอนทำให้ยางเสื่อมสภาพเร็วขึ้น ยิ่งชอบขับเร็วบนเส้นทางภูเขาคดเคี้ยว ยางก็ยิ่งต้องรับภาระมากขึ้น ส่งผลให้ยางสึกหรอเร็วกว่าการขับบนทางราบ พวกมือใหม่ หรือมือเก๋า ที่ขาดความระมัดระวังอาจขับไปเบียดกับขอบฟุตปาท ทำให้แก้มยางเสียหาย ผิวถนนที่แตกต่างกัน เดี๋ยวทางลาดยาง เดี๋ยวทางปูน เดี๋ยวขับไปเจอทางที่โรยกรวดหินก้อนเล็กๆ หรือถนนลูกรัง ย่อมส่งผลกระทบกับยางโดยตรง ถนนที่เป็นหลุมบ่อ วิ่งมาเร็วๆ แล้วตกลงไปก็อาจทำให้โครงสร้างของยางเสียหายได้

เมื่อชอบขับรถเร็ว ใช้ความเร็วสูงต่อเนื่อง จะทำให้ยางสึกหรอเร็วกว่าปกติ การบรรทุกหนักก็ทำให้ยางต้องรับภารกรรมสาหัส ทั้งลมยางที่อัดมาจนเต็ม น้ำหนักกดทับ และการวิ่งบดลงไปบนผิวถนนที่ขรุขระแล้วต้องแบกน้ำหนักมหาศาล การขับแบบรุนแรง ออกตัวเร็ว ออกตัวกระชาก เข้าโค้งแรงๆ เบรกหนักต่อเนื่อง หรือใช้เบรกอย่างรุนแรงบ่อยครั้ง เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ยางเสื่อมสภาพเร็วขึ้น

แรงดันลมยางมีความสำคัญต่อการใช้งานรถยนต์ จุ๊บเลส ถ้าเก่าก็ควรจะเปลี่ยน และเปลี่ยน 4 ล้อพร้อมๆ กันไปเลย เพราะถ้าจุ๊บเติมลมไปขั้วขาดกลางทางก็จะทำให้ลมรั่วยางแบนไปต่อไม่ได้ ควรตรวจเช็กลมยางเป็นประจำอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง ควรเติมลมยางในขณะที่ยางยังเย็น หรือมีอุณหภูมิต่ำ ก็จะได้ค่าที่แท้จริง วิ่งทางไกลมีทั้งคนและสัมภาระก็ควรจะเติมลมยางเผื่อจากที่ระบุสัก 2-3 ปอนด์ อย่าลืม ถ้ามียางอะไหล่ก็เอาออกมาตรวจสภาพและเติมลมให้แข็งทุกครั้งก่อนออกเดินทาง มียางอะไหล่ แต่ไม่มีลม มันหนักรถโดยใช่เหตุล่ะครับ.

อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail [email protected]
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/

คุณกำลังดู: ยางคือชีวิต ตอน เรื่องควรรู้ของยางรถยนต์

หมวดหมู่: เคล็ดลับยานยนต์

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด