ร้อนตับแหก เหงื่อแตกเพราะแอร์เจ๊ง! ง่ายๆ วิธีดูแลรักษาระบบแอร์ในรถยนต์ของคุณ
แอร์ไปเสียกลางทางช่วงนี้ท่าจะแย่ ดูแลแอร์รถยนต์ให้พร้อมเดินทางทั้งใกล้และไกล เย็นสบายไม่ร้อนตับแตก!
อากาศของประเทศไทยในช่วงเดือนเมษายนเพิ่มดีกรีความร้อนระดับทะลุตับ อากาศร้อนจัดทั้งวันตั้งแต่เช้าไปจนถึงสามสี่ทุ่ม อุณหภูมินอกรถนั้นทะลุ 38-40 องศาเซลเซียสทำให้ระบบระบายความร้อนในรถยนต์และระบบปรับอากาศต้องทำงานอย่างหนักและเสี่ยงต่อการพังเสียหายเนื่องจากอุณหภูมิ การใช้รถในช่วงฤดูร้อนที่มีอุณหภูมิใกล้เคียงกับเตาอบไก่ห้าดาว ทำให้ระบบปรับอากาศในรถยนต์ของคุณต้องทำงานหนักเพื่อคงความเย็นในห้องโดยสารสู้กับดีกรีของความร้อนแรงจากแสงอาทิตย์ที่โคจรตั้งฉากกับประเทศไทย
ความร้อนที่เกิดขึ้นจากฤดูกาล การสันดาปของเครื่องยนต์ การเผาไร่นา และสภาวะโลกร้อน ทำให้ระบบแอร์ติดรถยนต์ต้องทำงานอย่างหนัก ระบบปรับอากาศคืออุปกรณ์ที่จำเป็นอย่างหนึ่งในรถยนต์ เพื่อสร้างความเย็นและระบายอากาศภายในตัวรถ การใช้งานที่ถูกต้อง และการดูแลรักษาเพื่อยืดอายุการใช้งานเป็นสิ่งสำคัญของการใช้ยานพาหนะ เนื่องจากระบบปรับอากาศในรถยนต์ที่ต้องรับหน้าที่อย่างหนัก ย่อมสึกหรอไปตามอายุการใช้งาน โดยเฉพาะสองส่วนหลักๆ คือ ฟิวส์ คอมเพรสเซอร์ และพัดลมในคอยล์เย็น
เปิดฝากระโปรงตรวจเช็กสายพานคอมเพรสเซอร์แอร์ว่ายังอยู่ในสภาพดี ไม่แตกร้าวพร้อมที่จะขาดออกจากกันเมื่อขับใช้งาน เมื่อเห็นว่าสายพานไม่อยู่ในสภาพที่จะใช้งานได้อีกต่อไป ก็เปลี่ยนสายพานเส้นใหม่ไปเลยจะเป็นการดีที่สุด งานนี้ ต้องพึ่งพาศูนย์บริการหรืออู่ที่มีความชำนาญ ดูเหมือนไม่มีอะไรแต่เปลี่ยนสายพายคอมแอร์แล้วหากปรับตั้งสายพานไม่ดี ตึงไป หรือ หย่อนเกินไป คอมแอร์ก็ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
ลองเปิดกล่องฟิวส์ พยายามหาตำแหน่งของฟิวส์ที่ควบคุมระบบปรับอากาศ พวกฟิวส์คอมแอร์ ฟิวส์พัดลมแอร์ในห้องโดยสาร ส่วนใหญ่ กล่องฟิวส์ในรถยนต์นั้น จะบ่งบอกตำแหน่งต่างๆ ของฟิวส์ที่ใช้งานในระบบไฟของรถอยู่แล้ว หรือดูจากคู่มือ หรือโพสต์ถามในคลับว่า ฟิวส์แอร์ของรถรุ่นนี้ใช้เบอร์อะไร เมื่อต้องเดินทาง ไม่ว่าใกล้ หรือไกล ให้พกฟิวส์สำรองของระบบปรับอากาศไปด้วย หากเกิดฟิวส์ขาดกลางทาง ก็สามารถถอดของเก่าที่เสียออกแล้วเปลี่ยนฟิวส์ใหม่ได้เลย เมื่อไม่เคยเปิดกล่องฟิวส์ประจำรถดู หากฟิวส์คอมแอร์หรือพัดลมห้องโดยสารเกิดขาดก็ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนได้ด้วยตัวเอง ต้องขับรถท่ามกลางอุณหภูมิที่สาหัสสากรรจ์ในระดับเกือบ 40 องศาเซลเซียสไปพบช่าง ซึ่งกว่าจะถึง ก็เล่นเอาเหงื่อท่วมท้นยับเยินแทบจะเป็นลมแดดกันเลยทีเดียว
การซ่อมบำรุงตรวจเช็กระบบทำความเย็นในรถยนต์ คงต้องพึ่งพาช่างหากแอร์ติดรถเกิดอาการไม่เย็นหรือมีแค่ลมเย็นอ่อนๆ โชยออกมาแทนที่จะเป็นแบบพ่นลมเย็นเหมือนตอนที่ซื้อรถมาใหม่ๆ ปัจจุบัน รถยนต์รุ่นใหม่หลายยี่ห้อมีแผงกรองแอร์ติดตั้งอยู่ในตู้แอร์ เมื่อใช้งานไปได้สักระยะ กรองแอร์ที่ต้องรับภารกรรมกรองฝุ่นละอองในอากาศก็ถึงคราวที่มันเกิดตันขึ้นมา ควรเปลี่ยนกรองแอร์ ตามระยะทางที่ระบุในคู่มือประจำรถ บางครั้งแอร์ไม่ได้เป็นอะไร แต่ที่ไม่เย็นก็เพราะกรองแอร์อุตัน พอเปลี่ยนใหม่ ลมแรงเย็นเจี๊ยบขึ้นมาทันใจ
รถเก่าที่มีอายุการใช้งานยาวนาน ฤดูนี้เหมือนจะยิ่งทารุณหนัก ระบบแอร์มักเสียหาย เจ๊งไม่ทำงาน อย่างใดก็อย่างหนึ่งเสมอ เช่น ฟิวส์คอมแอร์หรือฟิวส์พัดลมแอร์ขาด ทำให้คอมแอร์หรือพัดลมในห้องโดยสารหยุดทำงาน แอร์มีกลิ่นอับ เกิดจากสภาพตู้แอร์ที่สกปรกจากอายุการใช้งานที่นาน เมื่อขับรถไปให้ช่างแอร์ตรวจสอบระบบแอร์หรือทำการซ่อมบำรุง ตรวจเช็กน้ำยาแอร์ และรอยรั่วตามท่อทางของระบบแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะต้องล้างตู้แอร์กันแล้ว การล้างตู้แอร์นั้นทำได้ง่าย โดยไม่ต้องถอดตู้แอร์ออกมาให้ยุ่งยากวุ่นวาย ซึ่งหากมีโอกาส การล้างแอร์ปีละครั้ง กับค่าใช้จ่ายเพียงครั้งละพันกว่าบาทสำหรับรถเก่า การล้างทำความสะอาดตู้แอร์ในห้องโดยสารสำหรับรถเก่า นอกจากการล้างแอร์จะช่วยทำให้ลมแอร์ดีขึ้นแล้ว กลิ่นอับชื้นเหม็นฉุนที่เคยมีอยู่ก็จะค่อยๆ หายไป
เมื่อเปิดแอร์ตอนเช้าก่อนขับออกจากบ้าน หรือเมื่อเครื่องยังเย็นอยู่ ไม่ควรใจร้อน เปิดพัดลมแอร์จนสุด ให้คอมแอร์ได้วอร์ม หรือเริ่มต้นการทำงานไปสักพักสัก 5 นาที เมื่อสตาร์ตเครื่องยนต์และให้เครื่องยนต์ถึงอุณหภูมิทำงาน (พัดลมระบายความร้อนหม้อน้ำทำงาน) เสียก่อน จึงเปิดสวิตช์ระบบปรับอากาศ ฟังดูเหมือนยุ่งยาก แต่การรอให้เครื่องยนต์ถึงจุดที่ทำงานได้อย่างสมบูรณ์แล้วค่อยเปิดแอร์ ช่วยยืดอายุการใช้งานระบบปรับอากาศในรถยนต์ได้อย่างเห็นผลในระยะยาว
เปิดสวิตช์พัดลมก่อนแล้วจึงกด สวิตช์ระบบปรับอากาศ (A/C) เปิดไปที่ความเร็วพัดลมสูงสุดระยะหนึ่งก่อน แล้วจึงลดลงไปยังความเร็วน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น
หลีกเลี่ยงการใช้น้ำหอม หรือ สเปรย์ปรับอากาศ เนื่องจากไอระเหยของสารเคมีที่ใช้จะถูกดูดเข้าไปสะสมตัวที่ครีบเล็กๆ ของคอยล์เย็น สารเหล่านี้มีคุณสมบัติในการดูดความชื้น ทำให้ฝุ่นผงไปจับตัวที่ครีบระบายความเย็น ความสามารถในการถ่ายเทความร้อนจะลดลง คอมเพรสเซอร์ก็จะทำงานมากขึ้น ให้ศูนย์บริการทำความสะอาดคอยล์เย็นเป็นครั้งคราวเมื่อรู้สึกว่า ประสิทธิภาพในการทำความเย็นของระบบปรับอากาศลดลง
ถ้าอากาศภายนอกไม่ร้อนมากนัก หรือใช้งานทั่วไปในต่างจังหวัดที่ห่างไกล และมีอากาศดี ก่อนถึงที่หมายประมาณ 10 นาที ให้ปิดสวิตช์ระบบปรับอากาศ (A/C) แล้วเปิดพัดลมไปที่ความเร็วสูงสุด เปิดช่องรับอากาศภายนอกยกเลิกโหมดอากาศหมุนเวียนภายใน เพื่อลดการทำงานคอมเพรสเซอร์และไล่ความชื้นออกจากคอยล์เย็น
ถ้าบำรุงรักษาด้วยวิธีปฏิบัติง่ายๆ ดังกล่าวเป็นประจำ อายุการใช้งานของระบบปรับอากาศในรถยนต์ก็จะยืนยาวขึ้น
ข้อแนะนำในการดูแลรักษาแอร์รถยนต์
เมื่อต้องจอดตากแดดเป็นเวลานานๆ ก่อนใช้รถควรเปิดลมเปล่าให้แรงสุด (ปิดสวิตช์ A/C) เพื่อไล่ความร้อนที่มีอยู่ในระบบแอร์ออกเสียก่อน แล้วจึงค่อยเปิดน้ำยาแอร์ (เปิดสวิตช์ A/C)
เมื่อต้องจอดข้ามคืน ควรเปิดลมเปล่าให้แรงสุด (ปิดสวิตช์ A/C) ประมาณ 5 นาที เพื่อไล่ความชื้น ไล่น้ำ ที่ค้างอยู่ในตู้แอร์ออกก่อน เพราะตู้แอร์ทำจากอะลูมิเนียม จะเกิดการผุกร่อนได้ง่าย และจะทำให้ตู้แอร์ลดการเหม็นอับ
ระบบแอร์ เป็น “ระบบปิด” ดังนั้นเมื่อแอร์ไม่เย็นและต้องเติมน้ำยาแอร์บ่อยครั้ง การต้องเติมน้ำยาคอมแอร์บ่อยๆ แสดงให้เห็นว่า เกิดการรั่วของระบบแอร์ในรถ
ไม่ควรเปิดกระจกขับรถบ่อย เพราะจะทำให้ฝุ่นละอองจากภายนอก เข้ามาอุดตันในตู้แอร์เร็วยิ่งขึ้น
เมื่อแอร์ไม่เย็น แม้จะเปิดสวิตช์ A/C แล้ว แต่ก็ยังไม่มีไอเย็นออกมา ให้รีบปิดน้ำยาแอร์ หรือ สวิตช์ A/C ทันที เพราะอย่างน้อยๆ ถ้าเกิดการรั่วในระบบ น้ำยาแอร์และน้ำมันคอมเพรสเซอร์จะมีน้อยมากในระบบ จะทำให้คอมเพรสเซอร์พังมากขึ้นกว่าเดิม แล้วควรนำรถไปเช็กให้เร็วที่สุด แต่กรณีนี้ใช้ลมเปล่าก่อนก็ได้
ล้างตู้แอร์ ทุกๆ 2 ปี หรือถ้าใครเปิดกระจกขับรถบ่อย ให้ล้างทุกปี หรือตามเห็นสมควร เมื่อมีเหตุจำเป็นที่ต้องเปิดกระจกขับรถ ควรปิดช่องแอร์บริเวณคอลโซลหรือจุดที่แอร์ออกให้หมดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ฝุ่นเข้าไปในระบบแอร์น้อยที่สุด.
อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail [email protected]
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/
คุณกำลังดู: ร้อนตับแหก เหงื่อแตกเพราะแอร์เจ๊ง! ง่ายๆ วิธีดูแลรักษาระบบแอร์ในรถยนต์ของคุณ
หมวดหมู่: เคล็ดลับยานยนต์
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- สงกรานต์ 2566 เคล็ดลับขับทางไกล ทำอย่างไรให้ปลอดภัยทั้งไปและกลับ
- ร้อนรุ่มกลุ้มอุรา ตรวจสอบระบบระบายความร้อนในรถยนต์ไม่ให้ไปตายกลางทาง!
- ยางคือชีวิต ตอน เรื่องควรรู้ของยางรถยนต์
- ทำความเข้าใจ พวงมาลัยปั๊มเพาเวอร์ ล็อกเองได้หรือไม่ ต้องรอผลพิสูจน์จากผู้เชี่ยวชาญ
- ถอดรองเท้าขับรถ หรือใส่รองเท้าขับรถ อะไรปลอดภัยกว่า? แต่รู้ไหม ถอดรองเท้าขับรถผิดกฎหมาย