11 สัญญาณอันตราย เสี่ยง "ภาวะซึมเศร้าจากการทำงาน"
ลองเช็กตัวเองว่าเสี่ยงซึมเศร้าจากการทำงานหรือไม่ ก่อนที่จะไปพบจิตแพทย์
การทำงานคือหนึ่งในสาเหตุหลักของความเครียด ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในวันที่เราโตขึ้น งานเป็นสิ่งหนึ่งที่อาจจะทำให้เราเครียดมากที่สุด ยิ่งในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ด้วย งานยิ่งกดดันมากขึ้น หลายคนต้อง Work from home ด้วยแล้วอาจจะเครียดหนักกว่าเดิมเพราะทำงานไม่เป็นเวลา จะบอกว่าอันตรายมากต่อสุขภาพจิตของเรา
ตัวงานไม่ใช่สาเหตุหลัก จากการศึกษาชี้ว่า ตัวเนื้องานจริงๆ อาจจะไม่ได้ก่อให้เกิดภาวะซึมเศร้า แต่สภาพแวดล้อมอาจจะทำให้เกิดขึ้นได้และแย่ลงสำหรับผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าอยู่แล้ว
องค์การอนามัยโลกหรือ (WHO) ได้กล่าวไว้ว่า สภาพแวดล้อมที่แย่ในที่ทำงานสามารถนำไปสู่ปัญหาได้เช่น
- ความกังวลด้านสุขภาพจิตและสุขภาพกาย
- การขาดงาน
- สูญเสียประสิทธิภาพในการทำงาน
กรณีร้ายแรงอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าที่รุนแรง จนถึงการใช้ยาเลยก็ได้
สัญญาณอันตราย เสี่ยงภาวะซึมเศร้าจากการทำงาน
- รู้สึกวิตกกังวลมากขึ้นเรื่อยๆเมื่อต้องจัดการกับงาน สถานการณ์ที่ตึงเครียด คิดถึงเรื่องงานเมื่อเราไม่อยู่ที่ทำงาน
- เบื่องาน ไม่มีความพอใจในงานที่ทำ
- รู้สึกเศร้าหรือไม่มีเวลาจะทำอะไร (ติดต่อกันเป็นเวลานาน)
- รู้สึกไม่สนใจงานเท่าที่เคยเป็น
- รู้สึกสิ้นหวัง
- ไม่มีสมาธิกับงาน ใส่ใจกับงานน้อยลง
- เกิดข้อผิดพลาดเยอะขึ้นในงาน
- ปวดหัว มีการขาดหรือมาสาย อยากเลิกงานก่อนเวลาตลอด
- ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ลดลง รู้สึกหงุดหงิดง่าย ความอดทนต่ำลง
- มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ
- ต้องพึ่งยานอนหลับหรือแอลกอฮอล์
นี่คืออาการเบื้องต้นที่เกิดขึ้นได้ และแน่นอนว่าบางคนอาจจะเก็บความรู้สึกเก่ง เช่น เพื่อนที่ทำงานของเรา อาจจะแสดงออกมาในรูปแบบอื่นเช่น แยกตัว ผัดวันประกันพรุ่งบ่อยๆ ไม่สนใจ ถอนหายใจเมื่อทำงาน
สาเหตุที่อาจจะทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าที่ทำงาน
- ความรู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมปัญหาเรื่องงานได้
- รู้สึกว่างานที่ทำนั้นมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเกิดปัญหากับหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน ลูกค้า
- สภาพแวดล้อมทำงานไม่ดี
- รู้สึกทำงานหนักเกินไป หรือไม่คุ้มกับค่าจ้างที่ได้รับ
- ทำงานล่วงเวลามากเกินไป (OT)
- เวลาทำงานกับเวลาชีวิตไม่สมดุลกัน
- สภาพแวดล้อมที่ทำงานไม่ตรงกับความต้องการ
- ทำงานที่ไม่ตรงกับเป้าหมายในชีวิต
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นอีกเช่น หัวหน้าไม่สนใจ การเมืองในที่ทำงาน การกลั่นแกล้ง การนินทา ความไม่เป็นธรรม ความไม่ชัดเจนในการทำงาน
แก้ไขภาวะซึมเศร้าที่ทำงานได้อย่างไร?
การแก้ไขปัญหานั้นมีหลายอย่าง เริ่มจากที่ตัวเราสามารถทำได้คือ อย่าเอางานกลับมาทำที่บ้าน ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ถัดมาอีกหน่อยคือ คุยกับทีม แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ ออกไปทำกิจกรรมใหม่ๆ เจอผู้คนใหม่ๆ ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น บางอย่างเป็นปัญหาโครงสร้างที่ในความเป็นจริงอาจจะแก้ไขได้ยาก และหากรู้สึกว่ากระทบชีวิตมากเกินไปแนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเช่น จิตแพทย์
สรุป งาน อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เรารู้สึกแย่ แต่เป็นเพราะองค์ประกอบของมันต่างหาก แน่นอนว่าปัญหาเรื่อง คน มักจะมาลำดับแรกๆตามด้วย ภาระ เงิน ความเป็นธรรม ไม่ว่าจะเจอแบบไหนก็ขอให้ทุกคนผ่านมันไปได้ด้วยดี หรือลองเพิ่มความสุขให้ตัวเองง่ายๆด้วย 5 วิธีคืนความสุขเมื่อเหนื่อยจากงาน
คุณกำลังดู: 11 สัญญาณอันตราย เสี่ยง "ภาวะซึมเศร้าจากการทำงาน"
หมวดหมู่: สุขภาพใจ-สมอง