5 พฤติกรรมเสี่ยง “ร้อนใน” ที่หลายคนอาจไม่ระวัง
สาเหตุที่ทำให้ทานข้าวไม่อร่อยไปหลายวัน
มีช่วงเวลาอยู่บางครั้งบางคราวที่มีอาหารไทยแสนอร่อยหลายเมนูที่เราอาจจะทำได้แค่มองตาปริบๆ แต่ไม่สามารถตักเข้าลิ้มรสชาติในปากของเราได้ เพราะมีเจ้าแผลร้อนในเล็กๆ แต่แสบเอาเรื่องอยู่ในปาก ตามกระพุ้งแก้ม เหงือก หรือแม้กระทั้งโคนลิ้นนั่นเอง บางคนก็เป็นร้อนในบ่อยๆ ซ้ำๆ จนรู้สึก ‘เจ็บบ่อยๆ ค่อยๆ ชิน’ แต่บางคนก็แทบจะไม่เคยเป็นร้อนในเลย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่โชคดีมาก
แต่เรื่องนี้จะเกี่ยวกับโชคอย่างเดียวคงไม่ใช่ ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมในการใช้ชีวิตของเราด้วยว่าทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นร้อนในมากขึ้นหรือไม่ ถ้ายังไม่แน่ใจ ลองเช็กดูได้ตามด้านล่างเลย
- พักผ่อนไม่เพียงพอ
เชื่อกันว่าการนอนน้อย นอนดึก หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นสาเหตุหลักๆ ของอาการร้อนใน เพราะเมื่อระบบการทำงานในร่างกายของเราเริ่มรวน ไม่เหมือนเดิม ก็อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดความผิดปกติเล็กๆ น้อยๆ ขึ้นในช่วงแรกๆ รวมถึงการเป็นร้อนในด้วย ที่เป็นสัญญาณเตือนว่า ‘เราควรเอาใจใส่กับร่างกายให้มากกว่านี้’
- เครียด วิตกกังวลมากเกินไป
มีงานวิจัยรายงานว่า การเกิดแผลร้อนในมีความสัมพันธ์กับอาชีพ และระดับความวิตกกังวล ดังนั้นใครที่อยู่ในช่วงที่เครียดจากการทำงานหนัก ทำรายงาน อ่านหนังสือสอบ หรือเครียดจากปัญหาส่วนตัว อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดแผลร้อนในมากกว่าคนปกติทั่วไปได้
- รับประทานอาหารที่มีฤทธิ์ร้อน
ตามตำรับแพทย์แผนจีน ระบุว่าอาการของแผนร้อนในเกิดจากการขาดความสมดุลของหยิน และหยาง ในร่างกายของเรา ซึ่งมีอยู่ 2 ปัจจัยหลักๆ หรือ อาหาร และอากาศ หากเราทานอาหารที่มีฤทธิ์เป็นร้อน (หยาง) มากเกินไป เช่น อาหารทอด อาหารรสเผ็ด อาหารรสจัดจ้าน เข้มข้น รวมไปถึงผลไม้บางชนิด เช่น ขนุน ทุเรียน เงาะ ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วงสุก ฯลฯ และการดื่มน้ำ (ที่มีฟ?เย็น หรือเป็นหยิน) ไม่เพียงพอ จะทำให้ร่างกายขาดความสมดุล จึงทำให้เกิดร้อนในได้
- ใช้ยาบางชนิดติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
การใช้ยาบางชนิด เช่น แอสไพริน ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาอะเลนโดรเนตที่ใช้รักษาโรคกระดูกพรุน หรือยาอื่นๆ อาจทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นร้อนในได้
- ขาดสารอาหาร
หากคุณเป็นคนที่ไม่ใส่ใจในการทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ทุกวัน คุณอาจจะขาดสารอาหารบางประเภท ที่อาจส่งผลให้มีความเสี่ยงในการเป็นแผลร้อนในมากขึ้น เช่น ขาดธาตุเหล็ก สังกะสี กรดโฟลิก วิตามินบี (โดยเฉพาะวิตามินบี 12) เป็นต้น
ตามปกติแล้ว หากเป็นแผลร้อนในเล็กๆ จะสามารถค่อยๆ หายได้เอง แต่หากต้องการให้แผลร้อนในหายเร็วขึ้น หรือมีแผลขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ และแสบมาก รบกวนการทานอาหารในแต่ละครั้ง สามารถลองบ้วนปากด้วยน้ำเกลือวันละ 2-3 ครั้ง ใช้ยาป้ายที่รักษาแผลร้อนในโดยเฉพาะ หรือปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีรักษาที่เหมาะสม ในกรณีที่พบว่าแผลร้อนในมีอาการผิดปกติ เช่น รูปทรงของแผลแปลกไป หรือแผลไม่ดีขึ้นภายใน 1 อาทิตย์
คุณกำลังดู: 5 พฤติกรรมเสี่ยง “ร้อนใน” ที่หลายคนอาจไม่ระวัง
หมวดหมู่: สุขภาพ