แชร์ประสบการณ์ ระบบโรงพยาบาลและการดูแลสุขภาพของญี่ปุ่นเป็นยังไง?

แชร์ประสบการณ์ ระบบโรงพยาบาลและการดูแลสุขภาพของญี่ปุ่นเป็นยังไง?

ผู้เขียนอาศัยอยู่ในโตเกียวมากว่าสิบปี ก็มีเรื่องต้องให้ไปหาหมอทั้งที่คลินิกและโรงพยาบาลบ้าง วันนี้จะมาแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับการไปหาหมอและการดูแลสุขภาพของคนญี่ปุ่นให้เพื่อนผู้อ่านกันนะคะ

ภาพรวมการหาหมอโรงพยาบาลญี่ปุ่น
การไปหาหมอที่โรงพยาบาลแต่ละครั้งต้องใช้เวลารอนานพอสมควรเพราะรอหมอตรวจคนไข้อื่นๆ แต่ฝ่ายเวชระเบียนจะรวดเร็วทันใจ เนื่องจากมีหลายช่องให้ผู้ป่วยติดต่อเพื่อไปหาหมอเฉพาะทางได้เลย หากตรวจเลือดก็จะมีห้องตรวจเลือดที่เป็นเหมือนโรงงานให้ผู้ป่วยรอคิวเจาะเลือดเก็บตัวอย่างไม่นานนัก แล้วรอฟังผลครั้งถัดไป ตอนชำระเงินก็รวดเร็วเพราะมีหลายช่องให้ยื่นเอกสารที่ได้รับจากคุณหมอ แล้วรอไม่ถึงครึ่งชั่วโมง จากนั้นรับใบเสร็จรับเงินและจ่ายเงินตรงเครื่องจ่ายเงิน แล้วนำใบสั่งยาไปยื่นให้แก่เภสัชกรประจำร้านยาใกล้โรงพยาบาล แต่การรอรับยาก็นานสักหน่อยเพราะเภสัชกรจัดยาอย่างรอบคอบมากจนบางทีก็รู้สึกว่าช้า แต่ก็เข้าใจได้ว่าเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย

 

หากลูกป่วยด้วยอาการที่สามารถรักษาเองได้ เช่น โควิด-19 ไข้หวัดใหญ่ และไวรัสลงกระเพาะ เป็นต้น เราต้องดูแลเองที่บ้าน นอกจากว่าลูกจะเป็นปอดอักเสบไข้สูงไม่ลด หรือความเจ็บป่วยที่ยากที่ผู้ปกครองจะดูแลเองได้ โรงพยาบาลจึงจะพิจารณาให้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ในการรักษาตัวที่โรงพยาบาลนั้นเด็กที่มีอายุ 6 ขวบขึ้นไปต้องนอนโรงพยาบาลคนเดียวโดยมีพยาบาลดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่อนุญาตให้พ่อแม่ไปนอนค้างคืนด้วย แต่พ่อแม่สามารถไปเยี่ยมไข้ได้ตามเวลาเยี่ยมที่โรงพยาบาลกำหนดไว้โดยทั่วไปจะเริ่มตั้งแต่ 11.00-20.00 น. ด้วยความที่ผู้เขียนเป็นแม่คนไทย ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่ตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าต้องดูแลสุขภาพลูกให้แข็งแรงเพราะไม่อยากให้ลูกต้องไปนอนโรงพยาบาลคนเดียว

ส่วนผู้ใหญ่นั้น โดยส่วนใหญ่หากป่วยจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลจะต้องนอนห้องรวม 4 เตียง เพราะค่าใช้จ่ายจะครอบคลุมในประกันสุขภาพ โดยมีพยาบาลดูแลอย่างใกล้ชิดและไม่อนุญาตให้ญาติมานอนเฝ้า ยกเว้นการมาเยี่ยมตามเวลาที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ ตั้งแต่การระบาดของไวรัสโควิด-19 โรงพยาบาลจำนวนมากไม่อนุญาตให้ญาติเข้าเยี่ยมผู้ป่วยนอกจากการนำของใช้ที่จำเป็นไปฝากให้ผู้ป่วย

ระบบคลินิกเฉพาะทางช่วยแบ่งเบาภาระโรงพยาบาล
หากเป็นอาการป่วยเล็กน้อย เราจะไม่ต้องไปโรงพยาบาล แต่ไปหาหมอที่คลินิกเฉพาะทางต่างๆ ใกล้บ้านได้ ปัจจุบันนี้มีระบบจองคิวทางโทรศัพท์หรือทางออนไลน์ก่อน เมื่อใกล้เวลาก็ไปยื่นบัตรประกันสุขภาพกับบัตรคนไข้ที่เคาน์เตอร์คลินิกหมอ แม้จะจองคิวได้แต่สำหรับผู้ป่วยบางคนคุณหมอต้องตรวจวินิจฉัยค่อนข้างนาน ดังนั้นเมื่อไปหาหมอเราต้องเผื่อเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง รวมกับเวลาไปรอรับยาที่ร้านยาก็อาจใช้เวลารวมประมาณ 2 ชั่วโมง หมอที่คลินิกช่วยแบ่งเบาภาระหมอที่โรงพยาบาลได้ดีช่วยลดการอัดแน่นของคนไข้ในโรงพยาบาล หากมีอาการโรคที่คุณหมอประจำคลินิกรักษาไม่ได้ก็จะมีการทำจดหมายส่งตัวไปยังโรงพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ

ค่ารักษาพยาบาลมา ให้ประกันสุขภาพช่วยได้
หลังจากหาหมอเสร็จแล้วผู้ป่วยต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่ายาซึ่งเป็นเพียง 30% ของรายจ่ายทั้งหมด โดยบริษัทประกันสุขภาพจะจ่าย 70% ในเขตที่เก็บภาษีได้เยอะของโตเกียวหรือเมืองใหญ่ๆ จะไม่มีค่าใช้จ่ายในค่ารักษาพยาบาลและค่ายาในเด็กตั้งแต่เด็กแรกเกิดถึงอายุ 18 ปี

 

การเสริมสร้างสุขภาพที่แข็งแรงของประชาชนทั่วไป
เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรงไม่ป่วยบ่อย ประกันสุขภาพและสวัสดิการที่ทำงานสนับสนุนให้ประชาชนได้ตรวจสุขภาพพื้นฐานฟรีทุกปี และในผู้หญิงอายุที่มีอายุเกิน 40 ปีก็มีคูปองการตรวจมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลำไส้ฟรีทุก 2 ปี ทั้งนี้จะมีศูนย์ตรวจสุขภาพแบบครบวงจรเป็นทางเลือกให้สามารถตรวจสุขภาพเสร็จสรรพภายในหนึ่งถึงสองชั่วโมงและรอฟังผลที่บ้านอีกสองสัปดาห์

ส่วนในเด็กก็จะมีการดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอโดยมีการกำหนดเวลาตรวจสุขภาพตั้งแต่แรกเกิด เมื่อเข้าโรงเรียนทุกปีจะมีการตรวจสุขภาพเด็กอย่างละเอียด หากมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นก็มีหนังสือให้ผู้ปกครองรีบพาเด็กไปโรงพยาบาลที่เชี่ยวชาญโดยเร็ว เรื่องน้ำหนักตัวหากเด็กผอมหรืออ้วนเกินไป ก็จะมีใบแจ้งให้พ่อแม่ทราบ บางโรงเรียนฝ่ายพยาบาลขอให้ผู้ปกครองเข้าพบเพื่อให้คำแนะนำด้านการดูแลสุขภาพของลูก

 

ระบบพยาบาลในแต่ละประเทศก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งไม่สามารถตอบสนองความต้องการของคนทั่วไปได้ทุกอย่าง เหนือสิ่งใดคือบุคลากรการแพทย์ทำงานเหนื่อยมาก แม้คุณหมอญี่ปุ่นมีเงินเดือนโดยเฉลี่ยปีละประมาณ 13,783,000 เยน (ราว 3,422,805 บาท) แต่พวกเขาก็มีความเสี่ยงจากการต้องรับผิดชอบชีวิตคนและต้องย้ายไปตามโรงพยาบาลต่างๆ จนบางครั้งแทบไม่มีเวลาให้แก่ครอบครัว เพื่อลดภาระของบุคลากรการแพทย์และประหยัดค่าใช้จ่ายจากค่ารักษาพยาบาล หันมาดูแลสุขภาพของเราและครอบครัวให้แข็งแรงตั้งแต่วันนี้กันค่ะ

คุณกำลังดู: แชร์ประสบการณ์ ระบบโรงพยาบาลและการดูแลสุขภาพของญี่ปุ่นเป็นยังไง?

หมวดหมู่: ผู้หญิง

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด