หมอญี่ปุ่นแนะนำ! วิธีดูแลสุขภาพเพื่อผ่านวัยทองสู่วัยสูงอายุอย่างแข็งแรง

หมอญี่ปุ่นแนะนำ! วิธีดูแลสุขภาพเพื่อผ่านวัยทองสู่วัยสูงอายุอย่างแข็งแรง

ในช่วงอายุตั้งแต่ 45-55 ปี ผู้หญิงส่วนใหญ่มักประสบปัญหาวัยทอง เนื่องจากในวัยนี้เป็นช่วงวัยที่ร่างกายของผู้หญิงสร้างฮอร์โมนเพศนั่นคือเอสโตรเจนลดน้อยลง และส่งผลเสียทางร่างกายต่างๆ เช่น อ่อนเพลีย หงุดหงิดอารมณ์แปรปรวน นอนไม่หลับ ช่องคลอดแห้ง และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เป็นต้น การที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงจนหยุดผลิต ไม่เพียงแค่ส่งผลให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์เท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวหากละเลยไม่ใส่ใจดูแล มารู้วิธีการดูแลสุขภาพเพื่อผ่านวัยทองไปสู่วัยสูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรงจากคำแนะนำของคุณหมอชาวญี่ปุ่นกันค่ะ

ผลกระทบสำคัญหลังการหยุดสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนของผู้หญิง
เอสโตรเจนและฮอร์โมนเพศหญิงอื่นๆ สร้างมาจากคอเลสเตอรอลในร่างกาย เมื่อเข้าสู่วัยทองที่ร่างกายสร้างฮอร์โมนเพศหญิงได้น้อยลงจะส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น และหากไม่ดูแลใส่ใจสุขภาพก็จะส่งผลให้มีโอกาสเกิดภาวะหลอดเลือดแข็งซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายและโรคหลอดเลือดสมอง

ฮอร์โมนเอสโตรเจนมีบทบาทสำคัญในการป้องกันไม่ให้แคลเซียมถูกชะล้างออกจากกระดูก แต่ในวัยหมดประจำเดือนที่ร่างกายผู้หญิงสร้างเอสโตรเจนได้น้อยมากทำให้มวลกระดูกลดลง ส่งผลให้ผู้หญิงมีโอกาสเกิดโรคกระดูกพรุนมากกว่าผู้ชาย 2-3 เท่า โดยพบว่า 1 ใน 5 ของผู้หญิงญี่ปุ่นมีภาวะกระดูกพรุนในวัย 60 ปี และ 1 ใน 3 ของผู้หญิงญี่ปุ่นมีภาวะกระดูกพรุนในวัย 70 ปี นอกจากนี้ เมื่อมวลกระดูกลดลงฮอร์โมนออสทีโอแคลซิน (Osteocalcin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกจะถูกหลั่งออกมาสู่กระแสเลือดน้อยลง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความผิดปกติของร่างกายอย่างเป็นระบบ คือ เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น เบาหวานและโรคอ้วน อีกทั้งยังทำให้ความจำเสื่อมด้วย

4 วิธีดูแลกระดูกและกล้ามเนื้อให้แข็งแรง
ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ร่างกายแข็งแรงหลังจากวัยหมดประจำเดือนคือ การเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อ โดยมี 4 วิธีดังนี้คือ

1. รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม วิตามินดี และวิตามินเค


แคลเซียมช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและฟัน อาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม ได้แก่ นมและผลิตภัณฑ์จากนม เช่น โยเกิร์ต ชีส นมถั่วเหลือง และปลาเล็กปลาน้อย เป็นต้น วิตามินดีช่วยเสริมการดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกาย อาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินดี ได้แก่ ปลาแซลมอน ปลาซันมะ ปลาเล็กปลาน้อย และเห็ดหอมแห้ง เป็นต้น วิตามินเคช่วยให้สุขภาพกระดูกดีขึ้นและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน อาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินเค ได้แก่ ผักสีเขียวและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ได้แก่ เต้าหู้และนมถั่วเหลือง เป็นต้น


2. ตากแดดวันละ 10 นาที
การตากแดดวันละประมาณ 10 นาที จะช่วยให้ร่างกายสร้างวิตามินดีจากคอเลสเตอรอลเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกได้ดี


3. รับประทานอาหารที่ครบคุณค่าสารอาหารอย่างสมดุล
การรับประทานอาหารที่ครบคุณค่าสารอาหารรวมถึงโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ปลา ไข่ และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เป็นต้น ในปริมาณที่พอเพียงจะช่วยป้องกันการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อและช่วยเพิ่มเส้นใยของกล้ามเนื้อ


4. ออกกำลังกาย


การออกกำลังกายเช่น กายบริหาร โยคะ เดิน และวิ่ง เป็นต้น อย่างน้อยวันละ 25 นาที จะช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรงและส่งผลให้สุขภาพแข็งแรงตามไปด้วย


วัยทองเป็นวัยแห่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของร่างกายผู้หญิง การดูแลความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อไปพร้อมกับการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยไอโซฟลาโวนจากผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองจะช่วยให้ผู้หญิงเราสวยและแข็งแรงแม้จะเข้าสู่วัยสูงอายุ แม้ว่าอายุขัยโดยเฉลี่ยของคนจะยืนยาวขึ้น แต่การมีอายุยืนแต่สุขภาพไม่แข็งแรงต้องเข้าออกโรงพยาบาลหรือต้องพึ่งพาคนดูแลก็อาจทำให้อดใช้ชีวิตให้สนุกในบั้นปลายค่ะ มาใส่ใจดูแลสุขภาพของเราตั้งแต่วัย 30-40 ปีกันค่ะ


สรุปเนื้อหาจาก:
news-postseven

คุณกำลังดู: หมอญี่ปุ่นแนะนำ! วิธีดูแลสุขภาพเพื่อผ่านวัยทองสู่วัยสูงอายุอย่างแข็งแรง

หมวดหมู่: ผู้หญิง

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด