“การเสียชีวิตจากกล้ามเนื้อหัวใจตาย” ป้องกันยังไง? หมอญี่ปุ่นมีคำตอบ
แม้คนจำนวนมากจะทราบดีว่าโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือตาย (Myocardial Infarction) นำไปสู่การเสียชีวิตอย่างกะทันหัน แต่ก็อาจยังไม่ทราบถึงวิธีการป้องกัน มาฟังข้อเท็จจริงของการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายและวิธีการป้องกันโรคนี้จากคุณหมอชาวญี่ปุ่นกันค่ะ
โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเกิดขึ้นได้อย่างไร
กล้ามเนื้อหัวใจตายเกิดจากการอุดตันของเส้นเลือดแดงในหัวใจหรือหลอดเลือดแดงโคโรนารี่ (Coronary arteries) ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้น้อย และเมื่อเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจลดลงอย่างรุนแรงหรือหยุดชะงักนานกว่าสองสามนาที ก็จะทำให้เนื้อเยื่อที่กล้ามเนื้อลายที่หัวใจตาย ในคนที่แข็งแรงปกติการหดตัวและขยายตัวของกล้ามเนื้อหัวใจซ้ำๆ จะทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้ตามปกติ แต่หากเกิดความผิดปกติที่กล้ามเนื้อหัวใจเนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือตายก็จะทำให้การทำหน้าที่สูบฉีดเลือดผิดปกติ และทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวขึ้นและอาจส่งผลให้เสียชีวิตอย่างกะทันหัน
ไลฟ์สไตล์แบบไหนที่ทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ง่าย
ไลฟ์สไตล์ที่ทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ง่าย คือ การรับประทานอาหารที่เค็มจัด การเพิ่มขึ้นของเกลือในเลือดจะทำให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น และหากความดันโลหิตสูงอย่างต่อเนื่อง ผนังของหลอดเลือดจะหนาขึ้นจะทำให้เกิดการแข็งตัวของหลอดเลือดตามมาในภายหลังจนส่งผลให้พัฒนาเป็นภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง และนำไปสู่โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย นอกจากนี้ การไม่รับประทานผักและขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น ก็อาจนำไปสู่การเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายได้เช่นกัน
วิธีป้องกันการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายหรือขาดเลือด
1. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัด
อาหารที่มีรสเค็มจัดทำให้ความดันโลหิตสูงและนำไปสู่โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัด ซึ่งอาจทำได้โดยปรุงรสอาหารด้วยน้ำมะนาวหรือน้ำส้มสายชูเพื่อให้อาหารอร่อยได้แม้ไม่เติมเกลือลงไป ทั้งนี้ควรหมั่นรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุโพแทสเซียมซึ่งเป็นแร่ธาตุที่ช่วยขับเกลือส่วนเกินออกจากร่างกาย อาหารที่อุดมไปด้วยโพแทสเซียมได้แก่ มะเขือเทศ ฟักทอง ผักปวยเล้ง กล้วย เห็ดหอม และนัตโตะ เป็นต้น
2.
รับประทานแคลเซียมให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
หากร่างกายขาดแคลเซียมจะทำให้แคลเซียมละลายออกจากกระดูกและเนื้อเยื่ออื่นๆ ของร่างกาย ส่งผลให้ปริมาณแคลเซียมในเลือดสูงขึ้น ซึ่งนำไปสู่การอุดตันของหลอดเลือดได้ การรับประทานแคลเซียมให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายก็มีส่วนช่วยในการป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายได้เช่นกัน อาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม ได้แก่ นม ปลาเล็กปลาน้อย ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง และสาหร่ายต่างๆ เป็นต้น
3. รับประทานผักเป็นประจำ
ผักอุดมไปด้วยวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยขจัดออกซิเจนที่มีพลัง (Active oxygen) ซึ่งตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งออกจากร่างกายได้
4. เดินออกกำลังกายให้เป็นกิจวัตร
จากการศึกษาพบว่าคนที่เดินออกกำลังกายวันละ 30 นาที 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ มีโอกาสเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายได้น้อยกว่าคนที่ไม่เดินออกกำลังกายหรือออกกำลังกายแบบแอโรบิก การเดินจะช่วยคงสุขภาพกายที่ดี โดยยิ่งมีการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อจากการเดิน จะยิ่งทำให้การเผาผลาญพลังงานขั้นพื้นฐานสูงขึ้นและส่งผลให้การไหลเวียนเลือดดี ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายได้
โดยทั่วไปหากเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายและไม่นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยทันทีทันใด พบว่าผู้ป่วยมีอัตราการเสียชีวิตถึงร้อยละ 40 โรคนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเฉพาะในผู้สูงอายุแต่เกิดในวัยหนุ่มสาวด้วย มาใส่ใจป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายตั้งแต่วันนี้กันค่ะ
คุณกำลังดู: “การเสียชีวิตจากกล้ามเนื้อหัวใจตาย” ป้องกันยังไง? หมอญี่ปุ่นมีคำตอบ
หมวดหมู่: ผู้หญิง