คนไทยป่วยซึมเศร้าเพิ่ม 2 เท่าสังคมเต็มไปด้วยความกดดัน

คนไทยป่วยซึมเศร้าเพิ่ม 2 เท่าสังคมเต็มไปด้วยความกดดัน

ปัจจุบันไทยพบข้อมูลที่สะท้อนว่าคนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตสูงขึ้นในทุก ๆ ปี กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข โดยคลินิกจิตเวชและยาเสพติด เผยว่า ในปี 2565 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาสุขภาพจิตแบบผู้ป่วยนอกจำนวน 22,481 ราย

ส่วนใหญ่จากอาการโรคจิต ซึมเศร้า วิตกกังวล ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นจิตแพทย์ นักจิตวิทยา มีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ดังนั้น การให้ความรู้ การส่งเสริม ป้องกันเกี่ยวกับการเข้ารับการดูแลรักษาสุขภาพจิตใจเป็นเรื่องที่สำคัญ จำเป็นต้องมีภาคประชาสังคม รวมถึงประชาชน

ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าสถานการณ์การเจ็บป่วยทางสุขภาพจิตคนไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ป่วยในระบบเพิ่มสูงขึ้น 2 เท่า และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากคนมีความรู้และเข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจ และต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ทุกคนเข้าใจว่าจะต้องเข้าไปหาจิตแพทย์เป็นอันดับแรก ทำให้เกิดภาวะคอขวด จำนวนจิตแพทย์ไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยสัดส่วนจิตแพทย์ในไทยตอนนี้อยู่ที่จิตแพทย์ราว 1.25 คน ต่อประชากร 100,000 คน ต่ำกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนด คือควรมีจิตแพทย์ 1.7 คนต่อประชากร 100,000 คนเป็นอย่างต่ำ ซึ่งสถานการณ์จิตแพทย์ของไทยและอาเซียนใกล้เคียงกันมาก เพราะในอดีตการศึกษาเฉพาะทางด้วยจิตแพทย์ไทยเป็นสาขาที่ไม่ได้รับความนิยมมากนัก แม้ปัจจุบันมีผู้สนใจเรียนมากขึ้น แต่ยอมรับว่ายังขาดแคลนอาจารย์ผู้สอนอยู่ดี

สิ่งที่จำเป็นต้องทำคือ ต้องสร้างความเข้าใจว่าปัญหาที่เกิดขึ้นถ้ายังไม่ถึงขั้นป่วยเป็นโรคทางจิตเวช อาจจะยังไม่ต้องไปพบจิตแพทย์ได้ แต่ว่าให้เป็นการไปเข้ารับการปรึกษาระดับอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น การปรึกษาอาสาสมัคร ปรึกษาคนใกล้ตัว ปรึกษาคนที่รับฟังเรา หรือถัดมาก็ขยับไปที่นักจิตวิทยาการปรึกษา นักจิตวิทยาคลินิก เพราะหากอาการเข้าขั้นจิตเวชก็จะมีการส่งต่อไปยังจิตแพทย์ ถ้าทำอย่างนี้ได้บุคลากรก็จะเพียงพอ อีกส่วนหนึ่งที่กรมสุขภาพจิตพยายามขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่องคือ การส่งเสริม ป้องกัน ก่อนที่จะเกิดการเจ็บป่วยทางสุขภาพจิต เช่น เครื่องมือประเมินสุขภาพใจเบื้องต้น MENTAL HEALTH CHECK IN เป็นต้น

การรักษาสุขภาพจิตอยู่ในทุกสิทธิการรักษาของรัฐ ไม่ว่าจะเป็น 30 บาท สิทธิประกันสังคม สิทธิข้าราชการ แต่จิตแพทย์ไม่ได้มีประจำในทุกโรงพยาบาล การไปรักษาต้องมีใบส่งตัวจากโรงพยาบาลต้นสังกัด ทำให้คนเกิดความยุ่งยาก ทำให้บางคนเลือกที่จะไปหาจิตแพทย์เอกชนที่คิวน้อยกว่า ที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง

คุณกำลังดู: คนไทยป่วยซึมเศร้าเพิ่ม 2 เท่าสังคมเต็มไปด้วยความกดดัน

หมวดหมู่: วัยรุ่น

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด