มีประจำเดือน ห้าม "ดื่มน้ำมะพร้าว" จริงหรือไม่?
มีใครเคยดื่มน้ำมะพร้าวตอนมีประจำเดือนบ้างไหม?
มั่นใจได้เลยว่าผู้หญิงเกือบจะ 100 เปอร์เซ็นต์ต้องเคยได้ยินมาบ้างแน่นอนว่า “หากมีประจำเดือน ห้ามดื่มน้ำมะพร้าว” ตามมาด้วยสารพัดเหตุผล บ้างก็ว่าเป็นความเชื่อที่เชื่อตามกันมาของคนโบราณ บ้างก็ว่าน้ำมะพร้าวจะทำให้เลือดที่ออกมาเป็นเลือดเสีย บ้างว่าน้ำมะพร้าวจะทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ บ้างว่าน้ำมะพร้าวจะทำให้ประจำเดือนไม่มาหรือออกกะปริบกะปรอย และบ้างก็ว่าน้ำมะพร้าวทำให้ปวดท้องประจำเดือนหนักมาก ดังนั้น เรามาดูกันดีกว่าว่า “น้ำมะพร้าว” เป็นของแสลงสำหรับผู้หญิงในช่วงมีประจำเดือนจริงหรือไม่?
ทำความเข้าใจประจำเดือน
ก่อนอื่น หลายคนยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับประจำเดือนเสียด้วยซ้ำ ว่าประจำเดือนเป็นเลือดเสียที่ออกจากร่างกายของผู้หญิง ซึ่งถ้าหากประจำเดือนเกิดมาไม่ปกติหรือไม่มา จะทำให้มีเลือดเสียค้างอยู่ในร่างกาย ความเชื่อนี้ เป็นเรื่องผิด! ประจำเดือนไม่ใช่เลือดเสียแต่อย่างใด เพราะประจำเดือน (Menstruation) คือ เลือดและเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดออกมาทุกรอบเดือนของผู้หญิง
ซึ่งเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกที่ว่า ผู้หญิงทุกคนจะต้องมีเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ เพราะการสืบพันธุ์เป็นเรื่องธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต ในทุกๆ 21-35 วัน ร่างกายของผู้หญิงจะมีการสร้างเนื้อเยื่อโพรงมดลูกขึ้นมาใหม่เสมอ เพื่อเตรียมพร้อมในการฝังตัวของตัวอ่อนหากมีการปฏิสนธิ หรือเรียกง่าย ๆ ว่าพร้อมมีลูก (เมื่อเกิดการตั้งครรภ์ เนื้อเยื่อโพรงมดลูกคือที่ที่เด็กในรูปของตัวอสุจิเข้าไปฝังตัว) โดยมีฮอร์โมน 2 ชนิดที่ควบคุมการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูก คือ เอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ระดับฮอร์โมนทั้ง 2 จะสัมพันธ์กับการตกไข่
แต่ถ้าไม่มีการปฏิสนธิ เยื่อบุโพรงมดลูก ก็จะ “ไม่ได้ใช้งานตามหน้าที่” จึงสลายตัวและหลุดลอกออกมาจากร่างกาย ดังนั้น ประจำเดือน ก็เป็นแค่เนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกที่ไม่ได้ใช้งานของรอบที่แล้ว เลยหลุดออกมาพร้อมกับเลือดเท่านั้นเอง ไม่ใช่เลือดเสียแต่อย่างใด
น้ำมะพร้าวกับประจำเดือน
โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้หญิงจะมีการตกไข่ประมาณ 450 ครั้งตลอดช่วงชีวิต มีรายงานว่าผู้หญิงกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ มีอาการป่วยเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างมีประจำเดือน และมีอาการบางอย่างที่แสดงก่อนและ/หรือระหว่างมีประจำเดือน เช่น ตัวบวม เจ็บเต้านม อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ปวดหัว เป็นไข้ ขี้หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน (ผู้หญิงบางคนสามารถร้องไห้ได้ด้วยเหตุผลที่ว่า “หิวข้าว”) นอกจากนี้ ผู้หญิงมากถึง 3 ใน 4 ยังต้องทนทุกข์ทรมานแทบทุกเดือนด้วยอาการ “ปวดท้องประจำเดือน”
อย่างไรก็ตาม อาการปวดท้องประจำเดือน สามารถบรรเทาได้ด้วยสารประกอบเคมีประเภทไฟโตเอสโตรเจน (Phytoestrogens) (ไฟโตเอสโตรเจน ไม่ใช่สารอาหาร เพราะไม่ให้พลังงานและไม่มีผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย) ซึ่งจะออกฤทธิ์คล้ายกับฮอร์โมนเพศเอสโตรเจน มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง และช่วยกระตุ้นการเจริญของอวัยวะสืบพันธุ์
แต่มะพร้าวกลับเป็นพืชที่อุดมไปด้วยไฟโตเอสโตรเจนซะงั้น ในมะพร้าว 100 กรัม มีไฟโตเอสโตรเจน 42 ไมโครกรัม ซึ่งถือว่ามากทีเดียวหากเปรียบเทียบกับผักและผลไม้ชนิดอื่น ที่สำคัญยังมีคุณค่าทางโภชนาการสูงอีกต่างหาก ทั้งวิตามินบี 3 (niacin), วิตามินบี 7 (biotin), วิตามินบี 2 (riboflavin), กรดโฟลิก (folic acid), วิตามินบี 1 (thiamin), วิตามินบี 6 (pyridoxine), วิตามินซี (ascorbic acid) และเกลือแร่อย่างโซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม เหล็ก ทองแดง ฟอสฟอรัส สังกะสี น้ำมะพร้าวจึงเป็นที่รู้จักกันดีในนาม น้ำเกลือแร่จากธรรมชาติ (Mineral water)
ไม่เพียงแค่นั้น ในเนื้อมะพร้าวยังมีกรดอะมิโน คาร์โบไฮเดรต สารต้านอนุมูลอิสระ และเอนไซม์ต่างๆ ที่จำเป็นต่อสุขภาพ และน้ำมะพร้าวนั้นให้พลังงานต่ำ ไขมันต่ำ และยังมีใยอาหารด้วย ทำให้น้ำมะพร้าวจัดเป็นน้ำดื่มจากธรรมชาติที่ได้รับความนิยมมาก เพราะนอกจากสารอาหารต่าง ๆ เหล่านั้นแล้ว ยังรสชาติดี หอมหวาน หาซื้อกินง่ายอีกด้วย
สารพัดประโยชน์จากน้ำมะพร้าว ทำให้มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงใน the Journal Current Trends in Clinical Medicine & Laboratory Biochemistry ในปี 2014 โดยบอกว่า “น้ำมะพร้าว เป็นแหล่งสารอาหารที่สำคัญที่ควรดื่มในระหว่างมีประจำเดือน”
น้ำมะพร้าวกับความผิดปกติระหว่างมีประจำเดือน
น้ำมะพร้าวไม่มีผลทำให้ประจำเดือนหยุด หรือกะปริบกะปรอย และทำให้มีประจำเดือนมาไม่ปกติ แต่ไฟโตเอสโตรเจนในน้ำมะพร้าวจะช่วยควบคุมรอบประจำเดือน จากการศึกษา พบว่าไฟโตเอสโตรเจนไม่ได้เปลี่ยนรอบวงจรของประจำเดือน แต่ถ้าเราได้รับไฟโตเอสโตรเจน (ซึ่งมีฤทธิ์คล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจน) มากเกินไป จะทำให้มดลูกบีบตัวมากขึ้น มีเลือดไปเลี้ยงมดลูกมากขึ้น และเจ็บเต้านมได้มากขึ้น
ทั้งนี้แปลว่าต้องได้รับในปริมาณที่มากแบบมากจริงๆ อีกทั้งร่างกายของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน จึงตอบรับสารไฟโตเอสโตรเจนในมะพร้าวได้ต่างกัน รวมถึงผู้หญิงบางคนมีอาการแพ้สารประกอบบางอย่างในน้ำมะพร้าว เมื่อดื่มในช่วงที่มีประจำเดือน จึงส่งผลให้เกิดความผิดปกติต่อร่างกาย ซึ่งถ้าเป็นคนที่มีปัญหากับสารอาหารในน้ำมะพร้าวอยู่แล้ว จะมีหรือไม่มีประจำเดือนก็ไม่ควรดื่มทั้งนั้น
อีกทั้งน้ำมะพร้าวก็ไม่ได้มีผลทำให้ประจำเดือนมาช้าด้วย แม้ว่าการเพิ่มฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน จะมีผลในการชะลอประจำเดือน (มักพบฮอร์โมนทั้ง 2 ในยาเลื่อนประจำเดือน) แต่ไฟโตเอสโตรเจนที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนนั้น ออกฤทธิ์ได้ต่ำกว่าเอสโตรเจนถึง 100-1,000 เท่า ด้วยฤทธิ์เพียงเท่านั้น ไม่มีผลต่อการเลื่อนของประจำเดือน
แต่คุณค่าทางโภชนาการในน้ำมะพร้าวกลับมีประโยชน์ในช่วงที่มีประจำเดือน
- ธาตุเหล็กที่อยู่ในน้ำมะพร้าว ช่วยให้เม็ดเลือดแดงแข็งแรง ป้องกันอาการโลหิตจางจากการเสียเลือดประจำเดือน
- วิตามินซีช่วยให้ร่างกายดูดซับธาตุเหล็กไว้ได้มากและป้องกันการขาดธาตุเหล็ก
- สังกะสีในน้ำมะพร้าว ช่วยปรับสมดุลของฮอร์โมน ช่วยกระตุ้นรังไข่ให้ทำงานเป็นปกติ และลดอาการปวดประจำเดือนอย่างรุนแรง
- โพแทสเซียม ช่วยควบคุมสมดุลของของเหลวในร่างกาย การหดตัวของกล้ามเนื้อและสัญญาณประสาท หากร่างกายมีระดับโพแทสเซียมต่ำ จะทำให้เกิดอาการปวดประจำเดือนได้ในผู้หญิงบางคน บรรเทาอาการท้องอืด ลดอาการเจ็บตึงที่เต้านม ลดกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน ที่เรียกย่อ ๆ ว่า พีเอ็มเอส (premenstrual syndromes : PMS) เช่น อาการท้องเสียในขณะมีประจำเดือน อาการอ่อนเพลีย อารมณ์แปรปรวน
- แมกนีเซียม ลดกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน ลดอาการไมเกรน และอาการซึมเศร้าระหว่างมีประจำเดือน
ด้วยข้อพิสูจน์ทั้งหมดทั้งมวลนี้ จะเห็นว่าการดื่มน้ำมะพร้าวในขณะมีประจำเดือนให้คุณมากกว่าโทษเสียด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากสาเหตุอื่น หรือสาเหตุที่เกิดร่วมกันมากกว่า หรือเป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดจากการดื่มน้ำมะพร้าวนี่แหละ แต่ต้องดื่มในปริมาณที่มากแบบมากๆ จนเกินไป เมื่อรู้ดังนี้แล้ว ใครใคร่ดื่ม ดื่มได้เลยไม่ต้องกลัว แต่ถ้าใครยังเป็นกังวล ก็ไม่ต้องดื่มก็ได้
คุณกำลังดู: มีประจำเดือน ห้าม "ดื่มน้ำมะพร้าว" จริงหรือไม่?
หมวดหมู่: สุขภาพ