"มะเร็งปอด" สาเหตุ อันตราย และวิธีรักษา ตรวจเจอเร็ว หายได้

แม้ว่าโรคมะเร็งจะอันตรายถึงชีวิต แต่หากเป็นมะเร็งปอด ตรวจเจอก่อน ก็รักษาได้ ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

"มะเร็งปอด" สาเหตุ อันตราย และวิธีรักษา ตรวจเจอเร็ว หายได้

ข้อมูลจาก Global cancer Observatory ขององค์การอนามัยโลก (WHO)  เปิดเผยว่าในปี พ.ศ. 2563 โรคมะเร็งปอดมีอุบัติการณ์และอัตราการตายสูงสุดเป็นอันดับ 2 เมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่น ๆ ในประเทศไทย โดบพบจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปอดรายใหม่สูงถึง 23,717 ราย หรือคิดเป็น 65 รายต่อวันโดยเฉลี่ย อีกทั้ง ประชาชนไทยอีกกว่า 20,395 ราย หรือคิดเป็น 56 รายต่อวันโดยเฉลี่ยเสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งปอด ซึ่งสถานการณ์ความรุนแรงของโรคนี้ยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ถึงแม้ว่ามะเร็งปอดยังคงครองสถิติต้นๆ ของโรคมะเร็งที่คร่าชีวิตคนไทยในแต่ละปี ด้วยจำนวนผู้ป่วยใหม่ 23,713 รายต่อปี หรือ 2.7 คนต่อชั่วโมง  ซึ่งการนำเสนอสถิติผู้ป่วยในที่นี้ ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความตระหนกหรือตื่นกลัว แต่จำนวนผู้ป่วยรายใหม่และอัตราการเสียชีวิตที่สูงขึ้นนี้ จะเป็นโอกาสในการสร้างการรับรู้ใหม่และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคมะเร็งปอดในยุคปัจจุบัน เพื่อให้ทุกคนทราบว่า “มะเร็งปอด ไม่น่ากลัวอย่างที่คุณคิด”

สาเหตุของมะเร็งปอด

ปัจจุบันยังมีการค้นพบว่ามะเร็งปอดสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย โดยสาเหตุหลักมาจากการสูบบุหรี่ แต่อย่างไรก็ตาม อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้รวมถึงพันธุกรรมและยีนในร่างกายที่เกิดจากการกลายพันธุ์ไปโดยไม่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมแต่อย่างใด โดยมากจะพบในคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่หรือเลิกบุหรี่ไปแล้วตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป รวมทั้งความผิดปกติของยีน ได้แก่ การกลายพันธุ์ของยีน EGFR ซึ่งพบได้บ่อยในคนไทย โดยพบประมาณ 50% รวมทั้งความผิดปกติของยีนอีกชนิดหนึ่ง คือ การสลับที่ของยีน ALK พบได้ประมาณ 5-10% และยังมียีนที่ผิดปกติชนิดอื่นๆ อีกสามชนิด คือ มีการสลับที่ของยีน ROS และ NTRK และการกลายพันธุ์ของยีน BRAF แต่ความผิดปกติของยีนในสามชนิดหลังนี้พบน้อยกว่าโดยมีเพียงชนิดละ 4% เท่านั้น

ชนิดของมะเร็งปอด

มะเร็งปอดมีสองชนิดใหญ่ๆ ด้วยกัน

  • มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (Non-small cell lung cancer) ซึ่งเป็น 85% ของมะเร็งปอดที่พบบ่อยในผู้ป่วยมะเร็งแต่ละปีในขณะที่อีก 15% ของผู้ป่วย
  • มะเร็งปอดที่พบเป็นชนิดเซลล์เล็ก (Small cell lung cancer) เป็น 15% ของมะเร็งปอดที่พบบ่อยในผู้ป่วยมะเร็งแต่ละปี ที่มีการเจริญเติบโตเร็วและแพร่กระจายกว่าชนิดเซลล์ไม่เล็ก

ในขณะที่วิทยาการและเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยในปัจจุบันก้าวหน้าไปมากกว่าเมื่อสิบปีก่อน ปัจจุบันมีการวินิจฉัยมะเร็งปอดด้วยการสแกนคอมพิวเตอร์ (CT Scan) การสแกนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) และล่าสุดผ่านการสแกนด้วย PET Scan รวมถึงเทคนิคการส่องกล้องทางหลอดลม และการเจาะตรวจชิ้นเนื้อ ทำให้การตรวจวินิจฉัยมะเร็งปอดในปัจจุบันมีความรวดเร็ว ซึ่งส่งผลดีโดยตรงต่อผู้ป่วยในการเข้ารับการรักษาได้เร็วยิ่งขึ้น

พญ.ธนิศา ทองใบ สาขารังสิวินิจฉัยระบบทางเดินหายใจ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะต้นแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ตามการแสดงอาการ ได้แก่ 

  • กลุ่มที่ไม่มีอาการเลย ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มักเจอว่าป่วยเป็นมะเร็งปอดโดยบังเอิญจากการตรวจร่างกาย
  • กลุ่มที่มีอาการเล็กน้อย เช่น ไอต่อเนื่องเป็นเวลานาน รับประทานยาแก้ไอแล้วแต่ไม่หาย ดังนั้น พยาธิแพทย์จึงจำเป็นต้องตัดชิ้นเนื้อปอดเพื่อนำไปวิเคราะห์แปลผลว่าเป็นมะเร็งปอดหรือไม่

เมื่อได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นมะเร็งปอด แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาวิชาจะร่วมกันวางแผนแนวทางการรักษาให้เหมาะสมกับระยะของโรค ขนาดและตำแหน่งของเซลล์มะเร็ง และความพร้อมทางร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นวิธีการผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัดก่อนหรือหลังการผ่าตัด และรังสีรักษา 

กลุ่มเสี่ยง มะเร็งปอด

ผู้ที่มีสุขภาพดีแต่มีแนวโน้มว่าอาจเกิดโรคมะเร็งปอด ได้แก่ 

  • ผู้ที่มีอายุ 50 - 80 ปี 
  • ผู้ที่สูบบุหรี่จัดติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เช่น สูบบุหรี่มากกว่า 30 ซองต่อปี หรือเคยสูบบุหรี่นานกว่า 15 ปี 
  • ผู้ที่ประกอบอาชีพในสภาพแวดล้อมที่มีสารพิษ เช่น อุตสาหกรรมเหมืองแร่ อุตสาหกรรมรถยนต์ โรงงานผลิตฉนวนกันความร้อน มีโอกาสที่จะสูดดมแร่ใยหินหรือสารแอสเบสทอล (asbestos) นิเกิล โครเมียม เข้าไปเป็นเวลานาน 
  • วินมอเตอร์ไซด์
  • พนักงานกวาดถนน 
  • พนักงานในศาลเจ้าซึ่งสูดดมควันธูปเป็นประจำ เป็นต้น 
  • ผู้ที่มีประวัติโรคปอดเรื้อรัง เช่น โรคถุงลมโป่งพองเรื้อรัง 
  • ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคมะเร็งหรือมะเร็งปอด ซึ่งอาจมีการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม 
  • นอกจากนี้ การกลายพันธุ์ที่ผิดปกติภายในร่างกายของแต่ละคนก็ส่งผลให้เกิดมะเร็งปอดได้เช่นกัน 

ดังนั้น การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น ลดปริมาณการสูบบุหรี่หรือเลี่ยงการอยู่ใกล้ผู้ที่สูบหรี่ การสวมใส่หน้ากากชนิดที่กันฝุ่น PM 2.5 เป็นต้น ก็มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปอดลงได้ 

มะเร็งปอด เจอเร็ว มีโอกาสรอด

ระยะของมะเร็งปอดที่เข้ารับการรักษามีผลโดยตรงต่อโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วย โดย พ.ท. ผศ. นพ.ไนยรัฐ ประสงค์สุข อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวถึงการคัดกรองมะเร็งปอดและการสังเกตอาการเบื้องต้นว่า “หากเจอมะเร็งปอดในระยะที่ 4 หรือระยะแพร่กระจาย ผู้ป่วยจะมีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี ประมาณ 5% เท่านั้น ระยะที่ 3 หรือระยะลุกลามเฉพาะที่ ผู้ป่วยจะมีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี ประมาณ 30% แต่ถ้าเราเจอมะเร็งปอดระยะ 1 หรือ 2 ก็คือระยะต้น ผู้ป่วยจะมีอัตราการรอดชีวิตประมาณ 5 ปี สูงเกือบ 60%

“อย่างไรก็ตามประเทศไทยตรวจพบมะเร็งปอดระยะต้นเพียงแค่ 30% เท่านั้น ถ้าเทียบกับต่างประเทศ เช่น ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป พบผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะต้นสูงถึง 52-54% เนื่องจากในสหรัฐอเมริกามีแนวปฏิบัติของ National Comprehensive Cancer Network (NCCN) และในยุโรปเองมีแนวปฏิบัติของ European Society of Medical Oncology (ESMO)  ซึ่งแต่ละมาตรการล้วนแนะนำไปในทางเดียวกัน ว่าการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดด้วยการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องอกแบบใช้รังสีต่ำ (Low dose CT scan) ในกลุ่มที่มีความเสี่ยง มีโอกาสที่จะตรวจพบมะเร็งปอดระยะต้นได้มากขึ้น” 

วิธีตรวจคัดกรองมะเร็งปอด

พญ.ธนิศา ได้เปรียบเทียบวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดแบบต่างๆ ว่ามีข้อดีและข้อจำกัดต่างกันไป “การเอกซเรย์ทรวงอก หรือ Chest x-ray ซึ่งมักรวมอยู่ในรายการตรวจสุขภาพประจำปี ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะคัดกรองเซลล์มะเร็งปอดในระยะต้นที่มีขนาดเล็ก ส่วน CT scan  ซึ่งมีความแม่นยำสูงกว่ามาก เป็นวิธีที่ต้องรอคิวนาน บุคลากรด้านรังสีแพทย์ยังมีอยู่จำกัด และผู้เข้าตรวจได้รับรังสีในปริมาณสูง ดังนั้น วิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดในปัจจุบันที่มีมาตรฐานและมีความแม่นยำกว่าการเอกซเรย์ทรวงอกถึง 6 เท่า คือการตรวจเอกเรย์คอมพิวเตอร์ช่องอกแบบใช้รังสีต่ำ (low dose CT scan) ซึ่งช่วยให้พบมะเร็งปอดได้รวดเร็วตั้งแต่ระยะต้น จึงทำให้ลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดลงได้ 20%” 

แนวทางในการรักษามะเร็งปอด

  • ผ่าตัด
  • เคมีบำบัด
  • รังสีรักษา

นวัตกรรมแนวทางการรักษามะเร็งปอดมีการพัฒนาไปมากในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการเพิ่มทางเลือกในการรักษาและทางรอดให้กับผู้ป่วยมากขึ้น โดยการผ่าตัดยังเป็นทางเลือกหลักในการรักษามะเร็งระยะเริ่มแรก ซึ่งกระบวนการการผ่าตัดในปัจจุบันก็มีความทันสมัยและปลอดภัยมากขึ้น และในการรักษามะเร็งปอดระยะลุกลามในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาใช้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ซึ่งมีอยู่ไม่กี่ชนิดและมีผลข้างเคียงค่อนข้างมากกับผู้ป่วย ในขณะที่ปัจจุบันการรักษามะเร็งปอดระยะลุกลามมีทางเลือกมากขึ้น

ด้านการรักษามะเร็งปอดด้วยวิธีการผ่าตัด นพ.ศิระ เลาหทัย ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กล่าวว่า “หากแพทย์ประเมินแล้วว่าผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะต้นผ่าตัดได้ เทคนิคการผ่าตัดในปัจจุบันแบ่งเป็น 2 วิธี ได้แก่ การผ่าตัดใหญ่แบบเปิดช่องอก โดยแพทย์จะผ่าก้อนเนื้อออกไป ผ่าตัดปอดบางกลีบ หรือผ่าปอดออกทั้งข้าง วิธีนี้มีข้อจำกัดก็คือ แผลค่อนข้างใหญ่และผู้ป่วยใช้เวลาพักฟื้นนาน ส่วนอีกวิธีหนึ่งคือการผ่าตัดส่องกล้อง ซึ่งแผลมีขนาดเล็กและใช้เวลาพักฟื้นสั้น ทั้งนี้ การรักษามะเร็งปอดระยะต้นด้วยวิธีการผ่าตัดทั้งสองเทคนิคช่วยเพิ่มโอกาสหายขาดให้กับผู้ป่วยได้มาก”

ในผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะต้นบางราย แพทย์อาจพิจารณาให้ยาเคมีบำบัดควบคู่ไปด้วย โดย พ.ท. ผศ. นพ.ไนยรัฐ กล่าวเสริมว่า “การให้ยาเคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะต้นมีทั้งให้ก่อนและหลังการผ่าตัด ดังนี้ การให้ยาเคมีบำบัดก่อนการผ่าตัดจะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีก้อนขนาดค่อนข้างใหญ่ ยาเคมีบำบัดจะทำหน้าที่ช่วยลดขนาดก้อนก่อน เพื่อให้การผ่าตัดทำได้ง่ายขึ้น ส่วนการให้ยาเคมีบำบัดหลังการผ่าตัด กลไกการทำงานของยาจะเข้าไปกำจัดเซลล์มะเร็งขนาดเล็กที่อาจหลุดเข้าสู่กระแสเลือด และลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ ช่วยให้ผู้ป่วยคงระยะปลอดโรคไว้ได้นานที่สุด ระยะเวลาในการให้ยาเคมีบำบัดอยู่ที่ 4-6 ครั้ง ทุก 3 สัปดาห์”

รศ.พญ.ธัญนันท์ ใบสมุทร (เรืองเวทย์วัฒนา) สาขาวิชามะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า “มะเร็งปอด ไม่น่ากลัวอย่างที่คุณคิด เพราะปัจจุบันมียาเคมีบำบัดกลุ่มใหม่ๆ เกิดขึ้นหลายชนิด ซึ่งผลข้างเคียงน้อยกว่ากลุ่มเก่า และยังมีการพัฒนายารักษามะเร็งกลุ่มใหม่ๆ เช่น การรักษาแบบตรงจุด หรือ แบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy) และการรักษาด้วยยากระตุ้นภูมิคุ้มกันและเม็ดเลือดขาวในร่างกาย (Immunotherapy) เป็นทางเลือกให้กับผู้ป่วยมะเร็งปอดบางรายอีกด้วย”

นอกจากนี้ รังสีรักษายังเป็นอีกวิธีหนึ่งในการรักษามะเร็งปอดระยะต้น ในกรณีที่ผู้ป่วยผ่าตัดไม่ได้ ผศ.พญ.ดนิตา กานต์นฤนิมิต รังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลว่า “แพทย์จะใช้เครื่องฉายแสงส่งผ่านรังสีออกมา รังสีเป็นคลื่นพลังงานสูง แต่ไม่มีคลื่นความร้อน ดังนั้น ผู้ป่วยจึงไม่ต้องกังวล รังสีสามารถทะลุทะลวงเข้าไปในก้อนหรือเซลล์มะเร็งและตรงเข้าทำลายสารพันธุกรรม (DNA) ส่งผลให้เซลล์มะเร็งไม่สามารถแบ่งตัวต่อได้และตายในที่สุด ข้อดีของการรักษาด้วยวิธีนี้คือรังสีจะพุ่งเป้าไปที่รอยโรคได้อย่างแม่นยำ เกิดผลข้างเคียงน้อย และใช้เวลารักษาไม่นาน โดยทั่วไปใช้แพทย์จะฉายรังสีประมาณ 3-10 ครั้ง ใน 1-2 สัปดาห์ ให้ผลลัพธ์การรักษาที่ดีมาก พบว่าในช่วง 5 ปี ผู้ป่วยกว่า 90% ไม่พบการกลับมาเป็นมะเร็งซ้ำ”

มะเร็งปอดถือเป็นภัยเงียบที่อันตรายเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยครั้งแรกว่าเป็นมะเร็งปอดนั้น กว่าร้อยละ 70 มักจะตรวจพบในระยะที่ 4 หรือระยะแพร่กระจายแล้ว  ดังนั้น การสร้างตระหนักและป้องกันตนเองจากปัจจัยเสี่ยงจึงเป็นสิ่งสำคัญ ส่วนผู้ที่มีแนวโน้มการเกิดมะเร็งปอดควรเข้ารับการตรวจคัดกรองเบื้องต้น เพราะการเข้าถึงการรักษาตั้งแต่ระยะต้นมีโอกาสสูงที่ผลลัพธ์การรักษาจะเป็นไปในทางที่น่าพึงพอใจ และลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำได้

คุณกำลังดู: "มะเร็งปอด" สาเหตุ อันตราย และวิธีรักษา ตรวจเจอเร็ว หายได้

หมวดหมู่: รู้ทันโรค

แชร์ข่าว