ทำอย่างไร? "ไอเรื้อรัง" ไม่หายสักที

ทำอย่างไร? "ไอเรื้อรัง" ไม่หายสักที

รศ. นพ. ปารยะ   อาศนะเสน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  

อาการไอ เป็นการขับลมผ่านสายเสียงที่ปิด เป็นกลไกการตอบสนองของร่างกายอย่างหนึ่งต่อสิ่งผิดปกติในทางเดินหายใจ และยังเป็นกลไกป้องกันที่สำคัญของร่างกายในการกำจัดเชื้อโรค เสมหะ หรือสิ่งแปลกปลอมในทางเดินหายใจ อาการไอจะเกิดขึ้นได้ต้องมีสิ่งกระตุ้นที่ตัวรับสัญญาณการไอก่อน ซึ่งตัวรับสัญญาณการไอในร่างกายของเรามีตั้งแต่ ช่องหู เยื่อบุแก้วหู จมูก โพรงจมูก ไซนัส คอหอย กล่องเสียง หลอดลม ปอด กะบังลม เยื่อหุ้มปอด เยื่อหุ้มหัวใจ และกระเพาะอาหาร เมื่อมีเหตุกระตุ้นไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม สารเคมี หรือรอยโรคบางอย่าง ตัวรับสัญญาณการไอจะส่งสัญญาณไปที่ศูนย์ควบคุมการไอในสมอง ซึ่งจะส่งสัญญาณต่อไปที่กล้ามเนื้อและอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการไอ เช่น กล้ามเนื้อกะบังลม กล้ามเนื้อซี่โครง กล้ามเนื้อท้อง กล้ามเนื้อกล่องเสียง และกล้ามเนื้อหลอดลม ทำให้เกิดกระบวนการไอขึ้น 

หากแบ่งตามระยะเวลาของอาการไอ เราสามารถแบ่งอาการไอได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ ไอเฉียบพลัน และ ไอเรื้อรัง การไอแต่ละชนิดมีสาเหตุจากอะไร มีวิธีการรักษาและป้องกันอย่างไร หาคำตอบได้ในบทความนี้

อาการไอหากแบ่งตามระยะเวลาสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ ได้แก่

  1. ไอเฉียบพลัน คือ มีระยะเวลาของอาการไอน้อยกว่า 8 สัปดาห์
  2. ไอเรื้อรัง คือ มีระยะเวลาของอาการไอมากกว่าหรือเท่ากับ 8 สัปดาห์

สาเหตุของอาการไอเฉียบพลัน

ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน (เช่น หวัด ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน คออักเสบ กล่องเสียงอักเสบ) หลอดลมอักเสบ อาการกำเริบของถุงลมโป่งพอง ปอดอักเสบ การมีสิ่งแปลกปลอมในช่องหู จมูก หลอดลม หรือการสัมผัสกับสารระคายเคืองในสิ่งแวดล้อม เช่น ควันบุหรี่ แก๊ส กลิ่นสเปรย์ ควันไฟ และมลพิษทางอากาศ เป็นต้น

สาเหตุของอาการไอเรื้อรัง

ในขณะที่ไอเรื้อรังเป็นปัญหาที่พบได้ถึงร้อยละ 11 – 20 ของจำนวนประชากร โดยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย การหาสาเหตุของอาการไอเรื้อรังอาจต้องอาศัยความร่วมมือจากแพทย์หลายสาขา เช่น แพทย์หู คอ จมูก อายุรแพทย์โรคภูมิแพ้และโรคปอด อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร จะช่วยให้ค้นหาสาเหตุของอาการไอได้ง่ายขึ้น เนื่องจากอาการไอเรื้อรังเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังแล้วมีน้ำมูกไหลลงคอ

การใช้เสียงมากทำให้เกิดสายเสียงอักเสบเรื้อรัง เนื้องอกบริเวณคอ กล่องเสียง หรือหลอดลม กรดไหลย้อน หลอดลมอักเสบเรื้อรัง หืด วัณโรคปอด การรับประทานยารักษาความดันโลหิตสูงชนิด angiotensin converting enzyme inhibitor (ACE-I) เป็นระยะเวลานาน และโรคของสมองส่วนที่ควบคุมการไอ เป็นต้น

แต่สาเหตุที่พบส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 85 ของผู้ป่วยที่แข็งแรงดีมาก่อน ไม่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ไม่สูบบุหรี่ ไม่รับประทานยารักษาความดันโลหิตสูงชนิด ACE-I และมีภาพรังสีทรวงอกปกติ มักเกิดจาก โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังแล้วมีน้ำมูกไหลลงคอ  โรคหืด  และโรคกรดไหลย้อน 

แม้ว่าอาการไอส่วนใหญ่จะไม่รุนแรงและหายได้เอง แต่อาการไอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไอเรื้อรัง สามารถส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยได้ ยกตัวอย่างเช่น ทำให้เป็นที่รำคาญ หรือเป็นที่รังเกียจของผู้อื่น และอาจแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้อีกด้วย ทำให้ผู้ป่วยวิตกกังวลว่าจะมีโรคที่เป็นอันตรายร้ายแรงซ่อนอยู่หรือไม่ ทำให้ผู้ป่วยขาดเรียน ขาดงาน หรือทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงในการต้องไปพบแพทย์หลายด้าน หรือต้องเสียเงินซื้อยาแก้ไอหลายขนาน รบกวนการรับประทานอาหารและการนอนหลับ บางรายอาจไอมากจนเป็นลม หรือมีปัสสาวะเล็ดราด ในกรณีที่ผู้ป่วยอายุมาก การไอมากๆ อาจทำให้กระดูกอ่อนซี่โครงหัก หรือทำให้ถุงลมหรือเส้นเลือดฝอยในปอดแตกออกสู่โพรงเยื่อหุ้มปอด เกิดอาการหอบเหนื่อย และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

 cough-2iStock

การวินิจฉัยและการรักษา

เนื่องจากผู้ป่วยไอเรื้อรัง อาจมีสาเหตุหรือปัจจัยกระตุ้นได้หลายอย่าง ดังนั้นในการวินิจฉัยแพทย์จึงต้องทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และสืบค้นเพิ่มเติม การซักประวัติ เช่น ประวัติการใช้ยา ACE-I  การสูบบุหรี่ การสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้หรือเหตุกระตุ้นให้เกิดอาการไอ (เช่น ฝุ่น ควัน อากาศเย็น) อาการทางจมูกหรือโรคไซนัส อาการของโรคกรดไหลย้อน (เช่น เรอเปรี้ยว ท้องอืด เจ็บหน้าอก) ประวัติโรคภูมิแพ้ของผู้ป่วยและคนในครอบครัว เป็นต้น การตรวจร่างกาย ได้แก่ การตรวจหู คอ จมูก ปอด และระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การสืบค้นเพิ่มเติม เช่น การส่องกล้องตรวจทางเดินหายใจส่วนบน การส่งตรวจภาพถ่ายรังสีของโพรงไซนัสและปอด การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง และการตรวจเสมหะ เป็นต้น 

การรักษาอาการไอที่สำคัญที่สุด คือ การหาสาเหตุของอาการไอ และรักษาตามสาเหตุ การรับประทานแต่ยาแก้ไอหรือยาขยายหลอดลมเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ อาการไออาจบรรเทาลงเมื่อใช้ยาแก้ไอ แต่ถ้าสาเหตุยังไม่ได้รับการแก้ไข เมื่อหยุดใช้ยาก็ต้องกลับมาไอเหมือนเดิม 

ดังที่กล่าวมาแล้วในข้างต้นว่าอาการไอเกิดได้จากหลายสาเหตุ บางครั้งอาจตรวจไม่พบสาเหตุ ในกรณีนี้แพทย์อาจพิจารณาใช้วิธีลองการรักษา เช่น แพทย์สันนิษฐานว่าผู้ป่วยน่าจะป่วยด้วยโรค A (สมมติ) ดังนั้นจึงลองใช้ยารักษาโรค A แล้วดูว่าอาการไอของผู้ป่วยดีขึ้นหรือไม่ แต่ในระหว่างนี้ผู้ป่วยต้องไม่รับประทานยาแก้ไอ หากอาการไอดีขึ้น แพทย์สามารถอนุมานได้ว่าผู้ป่วยน่าจะมีอาการไอเนื่องจากโรค A  เพราะถ้าผู้ป่วยป่วยด้วยโรค B C D… การรักษาด้วยยารักษาโรค A ไม่น่าจะทำให้อาการไอดีขึ้น แต่การรักษาด้วยวิธีการลองรักษาบางครั้งต้องใช้เวลานาน ตัวอย่างตามตารางต่อไปนี้

การลองรักษาเพื่อวินิจฉัยโรคและระยะเวลาของการรักษาที่จะเห็นผล

การลองรักษาเพื่อวินิจฉัยโรค ระยะเวลาของการรักษาที่จะเห็นผล (สัปดาห์)
การหยุดสูบบุหรี่  4
การหยุดใช้ยา ACE-I 4
โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง 2- 4
โรคหืด 6 – 8
โรคกรดไหลย้อน 8 - 12

                          
นอกจากนี้การปฏิบัติตนขณะมีอาการไออย่างถูกต้อง มีส่วนสำคัญที่จะทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น หรือไม่แย่ลง สิ่งที่ผู้ป่วยควรปฏิบัติ ได้แก่ หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่จะทำให้ไอมากขึ้น เช่น สารเคมี ควันบุหรี่ ฝุ่น สารก่ออาการระคายเคือง มลพิษทางอากาศ อากาศเย็นๆ การดื่มหรืออาบน้ำเย็น การรับประทานไอศกรีม หรืออาหารที่ระคายคอ เช่นอาหารที่ทอดด้วยน้ำมัน ตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้สูงกว่า 25 องศาเซลเซียส ไม่เปิดพัดลมเบอร์แรงสุด และควรเปิดพัดลมให้ส่ายไปมา หลีกเลี่ยงการสัมผัสอากาศจากเครื่องปรับอากาศหรือพัดลมโดยตรง ทำร่างกายให้อบอุ่นขณะนอนหลับ เช่น นอนห่มผ้า ใส่หมวกหรือถุงเท้า ใส่เสื้อหนาๆ หรือเสื้อ 2 ชั้น ปิดปากและจมูกเวลาไอด้วยผ้าเช็ดหน้าหรือกระดาษทิชชู่ ล้างมือทุกครั้งถ้าใช้มือปิดปากเวลาไอ ดื่มน้ำอุ่นมากๆ และงดสูบบุหรี่ 

ยาบรรเทาอาการไอ

แม้ว่าการใช้ยาบรรเทาอาการไอจะเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ แต่บางครั้งก็มีความจำเป็น เนื่องจากอาการไอรบกวนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก ยาบรรเทาอาการไอแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

  1. ยาลดหรือระงับอาการไอ ยาอาจออกฤทธิ์ที่จุดรับสัญญาณการไอส่วนปลาย หรือออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลางของสมองที่ควบคุมอาการไอ เช่น dextrometrophan, codeine (codeine เป็นยาควบคุม การซื้อยาชนิดนี้จำเป็นต้องมีใบสั่งแพทย์) ควรเลือกใช้ในผู้ป่วยที่ไอแห้งๆ ไม่มีเสมหะ เพราะถ้ากดอาการไอมากๆ โดยเฉพาะในเด็ก เสมหะอาจอุดตันหลอดลม ทำให้ไอมากขึ้น
  2. ยาขับเสมหะ ถ้าเหตุของการไอเกิดจากเสมหะ การกระตุ้นให้ขับเสมหะออกไป จะช่วยให้อาการไอดีขึ้น โดยยาจะไปกระตุ้นการทำงานของเยื่อบุในระบบทางเดินหายใจในการกำจัดเสมหะ เพิ่มปริมาณสารคัดหลั่งในระบบทางเดินหายใจ ทำให้ปริมาณเสมหะมากขึ้น จึงไอเอาเสมหะออกมาได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น potassium guaiacol sulphonate, terpin hydrate, ammonium chloride ควรเลือกใช้ในผู้ป่วยที่ไอแบบมีเสมหะ
  3. ยาละลายเสมหะ ช่วยลดความเหนียวของเสมหะ ทำให้ร่างกายสามารถขับเสมหะออกมาได้ง่ายขึ้น เช่น ambroxol hydrochloride, bromhexine, carbocysteine ควรเลือกใช้ในผู้ป่วยที่ไอแบบมีเสมหะ บางครั้งนิยมใช้ร่วมกับยาขับเสมหะ อย่างไรก็ตามยาละลายเสมหะที่ดีที่สุดก็คือ “น้ำเปล่า” นั่นเอง

กล่าวโดยสรุปคืออาการไอเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากโรคไม่ร้ายแรง เช่น หวัด คออักเสบ หรือหลอดลมอักเสบ และโรคร้ายแรง เช่น ปอดอักเสบ เนื้องอกบริเวณลำคอ กล่องเสียง หรือหลอดลม หากผู้ป่วยไม่ได้รับการวินิจฉัยหาสาเหตุที่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นหากได้รับการรักษาเบื้องต้นแล้วอาการไอไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์

อ่านบทความเพิ่มเติม >>>>> SIRIRAJ E-PUBLIC LIBRARY
ขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

คุณกำลังดู: ทำอย่างไร? "ไอเรื้อรัง" ไม่หายสักที

หมวดหมู่: สุขภาพ

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด