วิธีสังเกต เรา “เครียด” ระดับไหน เสี่ยง “ซึมเศร้า” หรือยัง?

เครียด วิตกกังวล กดดัน คิดทุกอย่างในแง่ลบ เราสามารถลดอาการเหล่านี้ได้ด้วยตัวเอง ตามคำแนะนำของจิตแพทย์ ใครดูเครียดๆ ในช่วงนี้ ส่งให้อ่านด้วยนะ

วิธีสังเกต เรา “เครียด” ระดับไหน เสี่ยง “ซึมเศร้า” หรือยัง?

ในสภาวะที่สังคมเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ปัญหาชีวิตที่ต้องเผชิญทั้งเรื่องงาน ครอบครัว การเงิน ความรัก และอื่นๆ ทำให้เราเกิดความเครียดได้ง่าย และมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นในวัยที่น้อยลงเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่วัยผู้ใหญ่ หรือวัยทำงานอีกต่อไป

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช หมอนุ่น-แพทย์หญิงดุจฤดี อภิวงศ์ กล่าวถึงภาวะความเครียดในปัจจุบัน พร้อมแนะนำเคล็ดลับการจัดการกับความเครียดที่ถูกวิธีเอาไว้ดังนี้

“ความเครียดเป็นสภาวะทางอารมณ์ที่เกิดจากการที่คนเราต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ หรือการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลให้รู้สึกกดดัน วิตกกังวล กระทั่งสภาวะจิตใจที่เปลี่ยนไปในด้านลบ เมื่อสมองรับรู้ได้ว่าเกิดสภาวะที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจก็จะส่งผลเสียต่อการทำงานของฮอร์โมนทันที”


อาการที่สังเกตได้ เมื่อเรามีความวิตกกังวล กดดัน หรือเครียด

  • หัวใจเต้นแรง 

  • เหงื่อออก 

  • มือเท้าเย็น 

  • ปวดท้อง 

  • กระวนกระวาย หรือสมาธิไม่ดี 

อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นทันทีเมื่อคนเรามีความเครียด และหากใครที่ต้องเผชิญกับความเครียดอยู่เป็นเวลานานโดยที่ไม่รู้จักหาวิธีผ่อนคลายก็อาจส่งผลต่อปัญหาสุขภาพตามมา เช่น 

  • นอนไม่หลับ 

  • ปวดศีรษะ

  • ใจสั่น 

  • ปวดเมื่อยตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย 

  • หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวนขึ้นลงง่าย

  • เป็นจุดเริ่มต้นของอาการซึมเศร้าได้ 


ระดับของความเครียด

ความเครียดนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่

  1. ระดับต่ำ (Mild Stress) สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ส่งผลรุนแรงต่อการดําเนินชีวิต เพียงแค่รู้สึกเบื่อหน่าย ขาดแรงกระตุ้น รวมถึงส่งผลต่อพฤติกรรมทำให้เชื่องช้าลง

  2. ระดับปานกลาง (Moderate Stress) เกิดจากเหตุการณ์ที่ผิดปกติจากชีวิตประจำวัน ไม่ก่ออันตราย และไม่แสดงออกถึงความเครียดที่ชัดเจน ส่วนใหญ่จะสามารถปรับตัวกลับสู่ภาวะปกติได้ คลายเครียดได้เองจากการได้ทํากิจกรรมที่ชื่นชอบ

  3. ระดับสูง (High Stress) เกิดจากเหตุการณ์รุนแรง หากปรับตัวไม่ได้ จะทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย อารมณ์ ความคิด รวมถึงพฤติกรรม เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย พฤติกรรมเกี่ยวกับการนอนและการทานอาหารเปลี่ยนไปจนมีผลต่อการดําเนินชีวิต

  4. ระดับรุนแรงและเรื้อรัง (Severe Stress) ทําให้มีความล้มเหลวในการปรับตัว ก่อให้เกิดความผิดปกติและโรคต่างๆ ที่รุนแรง รวมถึงอาการทางจิต ส่งผลกระทบต่อการดําเนินชีวิตประจําวัน ดังนั้นควรเข้ารับการปรึกษาจากจิตแพทย์ 

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทั้งปัญหามลภาวะฝุ่น PM 2.5 รวมถึงการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) นั้นสามารถส่งผลให้เราเกิดความเครียดในระดับปานกลาง-สูงได้ ขึ้นอยู่กับสภาพจิตใจของแต่ละคน


วิธีบริหารจัดการความเครียด

เริ่มจากการสำรวจตัวเองก่อนแล้วลองวิเคราะห์หาสาเหตุของความเครียดนั้น เพื่อหาแนวทางจัดการอย่างเหมาะสม 

  1. พูดคุยให้กับคนที่เราไว้วางใจได้รับฟัง หรืออาจจะหากิจกรรมสนุกๆ ทำเพื่อผ่อนคลายความเครียด เช่น ดูหนัง ฟังเพลง

  2. ฝึกสมาธิ ทำจิตใจให้สงบ 

  3. หากความเครียดอยู่ในระดับรุนแรงก็ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือนักจิตวิทยาเพื่อทำการเยียวยารักษา 


น้ำมันหอมระเหย ช่วยผ่อนคลายความเครียดได้

การใช้กลิ่นหอมบำบัด (Aromatherapy) มาช่วยในการสร้างบรรยากาศความผ่อนคลายภายในบ้านนับเป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถบรรเทาความเครียดได้เร็วที่สุด กลิ่นหอมจากน้ำมันหอมระเหยธรรมชาติจะเป็นตัวช่วยหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายอย่างเห็นได้ชัด เมื่อจมูกได้รับกลิ่นมาเพียงไม่กี่วินาที กลิ่นจะถูกส่งผ่านประสาทรับกลิ่น (Olfactory Nerves) ซึ่งอยู่เหนือโพรงจมูกไปยังกระเปาะรับกลิ่น (Olfactory Bulbs) และส่งต่อไปยังสมองส่วนควบคุมอารมณ์และความรู้สึก (Limbic System) อณูของน้ำมันหอมระเหยจะกระจายไปตามประสาทรับกลิ่นเข้าสู่สมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์ และความรู้สึก (Emotion Center หรือ Limbic System) โดยไปกระตุ้นให้สมองสั่งการไปที่ระบบต่อมไร้ท่อ เพื่อหลั่งสารที่มีประโยชน์ และมีอิทธิพลต่ออารมณ์และความรู้สึก ได้แก่ เอ็นโดฟิน (Endorphin) สารที่ช่วยลดความเจ็บปวด คลายความเครียด และความวิตกกังวล, เอนเคฟาลิน (Enkephalin) สารที่ช่วยลดอาการซึมเศร้า และเซโรโทนิน (Serotonin) ช่วยทำให้สงบ เยือกเย็น และผ่อนคลายจากสภาะเครียดได้

  • กลิ่นที่ช่วยในการผ่อนคลายความเครียดได้ดี และเป็นที่นิยม ได้แก่ กลิ่นลาเวนเดอร์ กุหลาบ มะลิ วนิลา ชาเขียว

  • กลิ่นที่ช่วยกระตุ้นโสตประสาทในร่างกายให้สดชื่น กระปรี้กระเปร่า ได้แก่ กลิ่นยูคาลิปตัส สะระแหน่ โรสแมรี่ ตะไคร้หอม อบเชย กานพลู

  • กลิ่นที่ช่วยเพิ่มพลังงาน อารมณ์ดีไปตลอดทั้งวัน แนะนำกลิ่นตระกูลซีตรีส เช่น กลิ่นส้มแมนดาริน มะนาว มะกรูด เป็นต้น

คุณกำลังดู: วิธีสังเกต เรา “เครียด” ระดับไหน เสี่ยง “ซึมเศร้า” หรือยัง?

หมวดหมู่: สุขภาพใจ-สมอง

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด