กินอาหารหม้อ-จานเดียวกัน แต่ท้องเสียอยู่คนเดียว เป็นไปได้หรือไม่?

ใครเคยกินหมูกะทะ สุกี้ ชาบู หม้อเดียวกันกับเพื่อน หรือกินอาหารเมนูเดียวกัน แต่ท้องเสียอยู่คนเดียวบ้าง? มันเป็นไปได้ไหมที่จะเราจะแจ็คพอตเจอชิ้นที่เชื้อโรคอยู่คนเดียว?

กินอาหารหม้อ-จานเดียวกัน แต่ท้องเสียอยู่คนเดียว เป็นไปได้หรือไม่?

อาการ “ท้องเสีย” เป็นอาการที่บ่งบอกถึงความผิดปกติของร่างกายในหลายๆ อย่าง แต่เบื้องต้นสามารถสันนิษฐานได้ก่อนว่าอาจมาจากอาหารที่เราเพิ่งรับประทานไปไม่นานมีความผิดปกติ ตั้งแต่อาหารรสจัดที่ทำให้เสาะท้องเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงอาหารที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ ความรุนแรงของอาการท้องเสียก็ขึ้นอยู่กับปริมาณของเชื้อโรคที่เราได้รับ รวมถึงสภาพความแข็งแรงของร่างกายเราด้วย

อย่างไรก็ตาม หากเราไปรับประทานอาหารร่วมกันกับคนอื่น เช่น หมูกะทะ ปิ้งย่าง สุกี้ ชาบู เมนูอาหารที่ใช้ภาชนะร่วมกัน หรือวัตถุดิบเหมือนกัน รวมไปถึงอาหารเมนูเดียวกันที่แม่ครัวทำพร้อมกันทีเดียวครั้งละมากๆ เช่น ข้าวแกง ข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง หมูกรอบ ข้าวหน้าเป็ด ก๋วยเตี๋ยว ฯลฯ จะเป็นไปได้ไหมว่าเราจะแจ็คพอตมีอาการท้องเสียอยู่คนเดียว เพราะมีเชื้อโรคอยู่ที่จานเราจานเดียว

Sanook Health มีคำตอบจาก ศ.นพ. รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร หัวหน้าศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลเมดพาร์ค มาไขข้อสงสัยให้ทุกคนได้ทราบกัน

ศ.นพ. รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร หัวหน้าศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลเมดพาร์คศ.นพ. รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร หัวหน้าศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลเมดพาร์ค

อาการแบบไหนที่เรียกว่า “ท้องเสีย”?

ตามคำนิยามของท้องเสีย หมายถึงการถ่ายอุจจาระที่ปริมาณมากกว่า 200 กรัมต่อวัน แต่ในทางปฏิบัติอาจจะวัดปริมาณเป็นน้ำหนักได้ยาก ดังนั้นองค์การอนามัยโลกจึงกำหนดนิยามของท้องเสียไว้ว่าเป็นการถ่ายตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป หรือถ่ายหลายครั้ง บ่อยกว่าปกติของบุคคลนั้นๆ โดยลักษณะของอุจจาระเป็นน้ำ หรือเหลว

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย

กว่าร้อยละ 80 ของภาวะท้องเสียเฉียบพลันเกิดจากการติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือพยาธิต่างๆ นอกจากนี้อาจเกิดจากภาวะอาหารเป็นพิษ หรืออาจเกิดจากยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ หรือยารักษาโรคเกาต์ เป็นต้น

อาหารแบบไหนที่เสี่ยงท้องเสียมากที่สุด?

อาหารที่ทำให้ท้องเสีย คือ อาหารที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน และอาหารที่บูดเน่าง่าย อาหารที่ทำให้ท้องเสียได้ง่าย ได้แก่ 

  • อาหารเหลือค้างคืน 
  • อาหารที่ไม่ได้ปรุงสุกหรืออุ่นให้ร้อน เพราะเชื้อแบคทีเรียมักจะตายเมื่อมีอุณหภูมิมากกว่า 75 องศาเซลเซียสเป็นต้นไป  
  • ผักสดที่ล้างไม่สะอาด
  • ผลไม้รับประทานทั้งเปลือกที่ล้างไม่สะอาด ก็ทำให้ท้องเสียได้ง่ายเช่นกัน

เป็นไปได้ไหมว่า ไปกินอาหารด้วยกันหลายคน แต่เราท้องเสียอยู่คนเดียว? ที่ว่ากันว่ามีเชื้อโรคอยู่ที่อาหารแค่ไม่กี่ชิ้น จากในหลายๆ ชิ้น เช่น ข้าวมันไก่จากไก่ตัวเดียวกันแต่ละคนส่วน หรือ สุกี้ทะเลที่กุ้งในหม้อมีเชื้อโรคอยู่ไม่กี่ตัว เป็นไปได้จริงหรือไม่?

เป็นไปได้ว่า มีปริมาณของเชื้อโรคแตกต่างกันในแต่ละส่วนของอาหาร การรับประทานเชื้อที่มีปริมาณน้อยกว่าในคนที่ร่างกายแข็งแรงกว่าอาจจะไม่มีอาการ และคนที่มีภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำอาจจะมีอาการได้แม้รับเชื้อโรคปริมาณน้อย อีกทั้งเชื้อโรคที่เรากินเข้าไปแล้วท้องเสีย ไม่ได้ปนเปื้อนอยู่ในอาหารเท่านั้น แต่สามารถปนเปื้อนที่ภาชนะ ช้อน ส้อม รวมทั้งมือของเราเอง หากเรารับประทานอาหารที่สะอาด แต่

ด้วยภาชนะ ช้อน ส้อมที่ไม่สะอาด รวมทั้งไม่ล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบจับอาหารเข้าปาก เราก็จะสามารถรับเชื้อโรคเข้าไปในทางเดินอาหารได้เช่นกัน

ท้องเสียแบบไหนที่ไม่อันตราย แบบไหนที่อันตราย?

โดยทั่วไปอาการท้องเสียมักเกิดจากการติดเชื้อซึ่งสามารถหายได้เอง อันตรายที่จะเกิดขึ้นมักเกิดจากการสูญเสียน้ำ และเกลือแร่ไปกับการถ่ายอุจจาระ รวมถึงการอาเจียน ดังนั้นหากสามารถดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชยน้ำ และเกลือแร่ที่ร่างกายสูญเสียไปได้อย่างเพียงพอ ก็จะไม่เป็นอันตราย 

แต่ในบางรายที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียน หรือเบื่ออาหาร ทำให้ร่างกายมีการพร่องสารน้ำ และเกลือแร่ซึ่งอาจนำมาสู่ภาวะร่างกายขาดน้ำอย่างรุนแรง และช็อคได้ ซึ่งในกรณีนี้ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับสารน้ำ และเกลือแร่ทดแทนทางเส้นเลือดหรือที่เรียกกันว่า “ให้น้ำเกลือ” นั่นเอง 

ท้องเสียในอีกกรณีหนึ่งที่ต้องระวังอันตราย ได้แก่ ท้องเสียที่เกิดจากการติดเชื้อรุนแรง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำ และมีโรคประจำตัว โดยจะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ซึ่งอาจนำไปสู่การติดเชื้อในกระแสเลือดรุนแรงได้ หากไม่ได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอย่างทันท่วงที

นอกจากนี้ภาวะท้องเสียเรื้อรังที่เป็นนานเกินสามสัปดาห์นั้นอาจบ่งถึงโรคอันตรายบางอย่างที่ซ่อนอยู่ เช่น โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือมะเร็งในทางเดินอาหาร จึงมีความจำเป็นต้องสืบหาสาเหตุอย่างละเอียดต่อไป

ท้องเสียแบบที่ไม่อันตราย เราสามารถรักษาตัวเองได้อย่างไร?

ท้องเสียเฉียบพลันโดยทั่วไปนั้นมักจะหายเองได้ หากไม่มีอาการของการติดเชื้อรุนแรง และสามารถทดแทนสารน้ำที่ร่างกายสูญเสียไปได้ทันท่วงที ดังนั้นการรับประทานผงน้ำเกลือแร่ทดแทนสารน้ำและเกลือแร่ที่ร่างกายสูญเสียไปจึงเป็นการดูแลรักษาตัวเองที่สำคัญที่สุด โดยแนะนำให้ดื่มน้ำเกลือแร่จากผงเกลือแร่ชนิดชงที่ใช้สำหรับผู้ป่วยท้องเสีย มากกว่าน้ำเกลือแร่ที่ใช้ดื่มหลังการออกกำลังกายเนื่องจากมีเกลือแร่ที่ออกแบบมาให้เหมาะสมกับเกลือแร่ที่สูญเสียไปจากทางเดินอาหาร 

นอกจากนี้ยังควรสังเกตอาการอันตรายที่ต้องไปพบแพทย์ ได้แก่ อาการไข้สูงหนาวสั่น อาการปวดท้องอย่างรุนแรงโดยเฉพาะบริเวณท้องน้อยด้านขวาซึ่งบ่งบอกถึงภาวะไส้ติ่งอักเสบมากกว่าจะเป็นภาวะท้องเสียธรรมดา

ท้องเสีย กับ อาหารเป็นพิษ แตกต่างกันอย่างไร?

คำว่าท้องเสียหมายถึงลักษณะ และความถี่ของการถ่ายอุจจาระที่เปลี่ยนไป ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น 

ส่วนภาวะอาหารเป็นพิษนั้นจะหมายถึงการอักเสบของทางเดินอาหารที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อโดยตรง แต่เกิดจากสารพิษที่ถูกสร้างโดยเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ในรายที่อาการรุนแรงก็จะมีอาการปวดท้อง และท้องเสียร่วมด้วยได้

สิ่งที่ควรกิน/ไม่ควรกิน เมื่อมีอาการท้องเสีย

ในระหว่างที่มีอาการท้องเสีย การย่อยและการดูดซึมของทางเดินอาหารจะลดลงชั่วคราว จึงควรกินอาหารที่ย่อยง่าย ได้แก่ อาหารที่มีกากใยน้อย และไขมันต่ำ เพราะอาหารที่มีกากใยสูงจะมีแก๊สปริมาณมากและกระตุ้นให้ปวดท้องได้ง่าย อาหารที่มีกากใยน้อย ได้แก่ ข้าวขาว ขนมปังขาว เส้นพาสตาหรือซีเรียลที่ไม่เติมกากใย คนท้องเสียสามารถกินผักและผลไม้ได้ แต่ควรกินปริมาณน้อย และควรเป็นผักผลไม้ที่มีกากใยน้อย เช่น ถั่วงอก แตงกวาปอกเปลือก มะเขือปอกเปลือก ผักกาดหอม หัวไชเท้า กล้วย แคนตาลูป แตงโม ผักที่ปรุงสุกจะมีปริมาณแก๊สน้อยกว่าทำให้ปวดท้องได้น้อยกว่า 

อาหารที่มีกากใยมากที่ควรหลีกเลี่ยงชั่วคราว ได้แก่ ขนมปัง และเส้นพาสตาโฮลวีท ข้าวกล้อง โปรตีนถั่วเหลือง (โปรตีนเกษตร) แอปเปิ้ลไม่ปอกเปลือก พรุน ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ส้ม

ในผลิตภัณฑ์นมจะมีน้ำตาลแลคโตส ซึ่งจะย่อยได้ยากในช่วงที่มีอาการท้องเสีย จึงควรหลีกเลี่ยงไปก่อนจนกว่าจะหาย หากจะดื่มนมควรดื่มปริมาณน้อย คือ ¼ แก้ว หรือไม่เกิน ½ แก้ว ในโยเกิร์ตที่มีฉลากว่า probiotic คือมีแบคทีเรียที่มีชีวิต (live bacteria) แบคทีเรียนี้จะย่อยน้ำตาลแลคโตส ทำให้มีน้ำตาลแลคโตสในโยเกิร์ตชนิดนี้น้อย คนท้องเสียจึงสามารถรับประทานโยเกิร์ตชนิดนี้ได้

โรคทางเดินอาหารอื่นๆ ที่คนไทยเป็นบ่อย มากกว่าท้องเสีย อาหารเป็นพิษ คืออะไรบ้าง?

โรคทางเดินอาหารอื่นๆ นอกเหนือจากโรคท้องเสียอาหารเป็นพิษ ที่คนไทยเป็นบ่อยได้แก่ 

  • โรคกระเพาะอาหาร 
  • โรคกรดไหลย้อน 
  • ภาวะลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome; IBS) 
  • โรคไวรัสตับอักเสบบี 

ส่วนในกลุ่มผู้สูงอายุ จะพบปัญหาที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ 

  • โรคตับ 
  • ท้องผูก 
  • นิ่วในถุงน้ำดีและท่อน้ำดี 
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่ 
  • การกลืนลำบาก

หากมีอาการท้องเสียโดยไม่ทราบสาเหตุ ถ่ายบ่อยครั้งจนอ่อนเพลียมาก ร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ รวมถึงลักษณะของอุจจาระที่ผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษา และวินิจฉัยอย่างเร่งด่วน เพราะหากสูญเสียน้ำจากการถ่ายมากเกินไป อาจเสี่ยงช็อคจนเสียชีวิตได้

คุณกำลังดู: กินอาหารหม้อ-จานเดียวกัน แต่ท้องเสียอยู่คนเดียว เป็นไปได้หรือไม่?

หมวดหมู่: สุขภาพ

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด