วิธีรับมือกับ "ความเครียด" ไม่ให้เสี่ยง "ซึมเศร้า"

คนเราก็มีเรื่องให้เครียดกันทุกคน เครียดมาก เครียดน้อยแตกต่างกันไป แต่จะเครียดอย่างไรให้เรารับมือ และอยู่กับมันได้ ไม่เสี่ยงซึมเศร้า

วิธีรับมือกับ "ความเครียด" ไม่ให้เสี่ยง "ซึมเศร้า"

เมื่อมีความเครียดถาโถมเข้ามา บางคนก็สามารถรับมือและผ่านมันไปได้อย่างไร้ปัญหา แต่บางคนกลับไม่สามารถจัดการกับความเครียดเหล่านั้นได้ จนส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจและสภาพร่างกายตามมา

ใครที่กำลังเป็นเช่นนี้อยู่ อย่าปล่อยให้ตัวเองต้องติดกับดัก เพียงแค่รับมือและจัดการความเครียดให้ได้ ชีวิตก็จะมีความสุขได้ง่ายขึ้น Tonkit360 มีคำแนะนำดีๆ จาก ศรีกุมาร์ เรา นักพูดและนักเขียนชื่อดังชาวอินเดีย เจ้าของหนังสือขายดี “Happiness at Work: Be Resilient, Motivated and Successful – No Matter What” เกี่ยวกับการขจัดความเครียดเพื่อชีวิตที่เป็นสุขขึ้นมาฝากกัน

  1. ระลึกไว้เสมอว่าทุกสิ่งไม่ได้อยู่ในการควบคุมเสมอไป

แม้ว่าเราจะวางแผนมาเป็นอย่างดี และมีทักษะที่ดีเลิศเพียงใด แต่สิ่งที่ไม่คาดฝันหรือไม่คาดคิดก็สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นพึงระลึกไว้เสมอว่าทุกสิ่งไม่ได้อยู่ในการควบคุมของเราเสมอไป หากยอมรับได้ก็จะช่วยทำให้จิตใจสงบขึ้น

  1. หยุดพักเมื่อรู้สึกว่าปวดเกร็งที่ท้องและหัวใจเต้นเร็ว

เมื่อมีอาการปวดเกร็งที่ท้องและหัวใจเต้นเร็ว ควรจะหยุดพักกิจกรรมต่างๆ ทันที จากนั้นให้หายใจลึกๆ และช้าๆ จดจ่ออยู่กับลมหายใจ เมื่อหายใจเข้าให้รู้สึกว่าอากาศเข้าไปถึงในปอดและท้องป่อง ขณะที่เวลาหายใจออก ก็รู้สึกได้ถึงการเคลื่อนไหวของปอดและท้องที่ยุบลง โดยให้ทำอย่างนี้ช้าๆ  5-10 ครั้ง ก่อนจะกลับไปทำงานใหม่

  1. พุ่งความสนใจไปที่เรื่องเดียว เลี่ยงการทำอะไรหลายอย่าง

การทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกันเป็นการบั่นทอนพลังงาน นอกจากจะทำให้รู้สึกเหนื่อยล้าแล้ว ก็ยังส่งผลให้ทำงานได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพด้วย ดังนั้น หากกำลังรู้สึกว่าทุกสิ่งประเดประดังเข้ามาหาเรามากจนเกินไป ให้เลือกทำงานชิ้นใดชิ้นหนึ่งเพียงอย่างเดียว และจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น พร้อมทั้งปิดเสียงแจ้งเตือนอีเมล รวมถึงโซเชียลมีเดียทั้งหลายด้วย

  1. ควรมีเวลาพัก 3-4 นาที เพื่อให้สมองได้พักบ้าง

หลังจากทำงานอย่างคร่ำเคร่งไปสัก 20 นาที ควรให้เวลาตัวเองได้พักสัก 3-4 นาที  ลุกเดิน ยืดเส้นยืดสาย เปลี่ยนอิริยาบถบ้าง เพื่อให้ร่างกายได้ผ่อนคลาย ก่อนจะกลับมาทำงานต่อ แต่หากต้องทำงานอยู่กับโต๊ะต่อเนื่องนานถึง 50 นาที ก็ควรจะพักให้นานขึ้นสัก 10 นาที ก่อนจะกลับไปขลุกกับงานกันใหม่

  1. อนาคตจะดีหรือร้าย ไม่มีใครบอกได้

ในเมื่อเราไม่สามารถบอกได้ว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่จะส่งผลอย่างไรในอนาคต จากที่เราเคยคิดในอดีตว่าจะแย่ ก็อาจไม่ได้แย่อย่างที่คิด และเผลอๆ อาจจะดีกว่าที่คาดไว้เสียด้วยซ้ำ ดังนั้น จึงไม่ควรคิดถึงเรื่องลบๆ ไปก่อนล่วงหน้า ตราบใดที่ยังอยู่กับปัจจุบันและตั้งใจทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้ดีที่สุด

คุณกำลังดู: วิธีรับมือกับ "ความเครียด" ไม่ให้เสี่ยง "ซึมเศร้า"

หมวดหมู่: สุขภาพใจ-สมอง

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด