วันข้าวกล่องรถไฟของญี่ปุ่น เอกิเบน รสชาติการเดินทางด้วยความอิ่มเอม
วันที่ 10 เมษายนของทุกปี ที่ญี่ปุ่นได้กำหนดให้เป็น “วันเอกิเบน” หรือ วันข้าวกล่องรถไฟของญี่ปุ่น ที่ชวนให้ทุกคนได้สัมผัสความสุขผ่านรสชาติที่แตกต่าง จากการได้ลิ้มลองอาหารในแต่ละท้องถิ่น
วันที่ 10 เมษายนของทุกปี ที่ญี่ปุ่นได้กำหนดให้เป็น “วันเอกิเบน” หรือวันข้าวกล่องรถไฟของญี่ปุ่น ที่ชวนให้ทุกคนได้สัมผัสความสุข ที่ไม่ใช่แค่ความอิ่มท้อง แต่เป็นความอิ่มเอมที่ได้รับจากวัฒนธรรมที่มีเสน่ห์ของชาวญี่ปุ่นที่มีมานาน ผ่านรสชาติที่แตกต่างจากการได้ลิ้มลองอาหารในแต่ละกล่องของแต่ละท้องถิ่นทั่วประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย
ที่มาข้าวกล่องรถไฟ หรือที่คนญี่ปุ่น เรียกว่า เอกิเบน มาจากคำสองคำ คือ “Eki” และ “Bento” เอกิ หมายถึง สถานี และเบนโตะ หมายถึง กล่องอาหารกลางวัน ซึ่งเด็กๆ มักนำไปกินที่โรงเรียน หรือคนทั่วไปพกพาไปกินที่ทำงาน
สำหรับคนญี่ปุ่น เอกิเบน ไม่ได้เป็นแค่ข้าวกล่องอร่อยๆ ธรรมดาที่กินบนรถไฟ ชาวญี่ปุ่นรู้จักผสมผสานความสุขในการเดินทางกับการรับประทานอาหารเลิศรสเข้าด้วยกันตั้งแต่ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และข้าวกล่องรถไฟก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการนั่งรถไฟที่มีเสน่ห์ของญี่ปุ่นมานาน
โอะตะกุ หรือแฟนพันธุ์แท้ผู้คลั่งไคล้การลิ้มรสข้าวกล่องรถไฟตามเส้นทางสายต่างๆ ในญี่ปุ่น เล่าว่า ขณะที่การได้ท่องเที่ยวเสาะหาข้าวกล่องรสเลิศของแต่ละท้องถิ่นนั้น เป็นความสุขที่เย้ายวนใจมากแล้ว แต่การได้รับประทานข้าวกล่องรถไฟ พร้อมๆ กับดื่มด่ำทิวทัศน์ขณะเคลื่อนที่ไปด้วย ถือเป็นสุดยอดรสชาติของการเดินทางด้วยรถไฟเลยทีเดียว
ที่มาของ "วันเอกิเบน" หรือวันข้าวกล่องรถไฟ 10 เมษายน
ที่แน่ชัดคือการมีรถไฟสายแรกของญี่ปุ่น เปิดให้บริการเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2415 โดยวิ่งระหว่างสถานีชิมบาชิจากกรุงโตเกียว ถึงสถานีโยโกฮาม่า ส่วนจุดกำเนิดหรือที่มาของข้าวกล่องรถไฟ หรือเอกิเบน พบว่ามีทฤษฎีและข้อถกเถียงมากมายเกี่ยวกับสถานที่และเวลาที่ญี่ปุ่นเริ่มขายเอกิเบนเป็นครั้งแรก
บางทฤษฎีเชื่อว่าเอกิเบนเริ่มขึ้นที่ภูมิภาคคันไซ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2420 แต่ที่เชื่อกันแพร่หลายที่สุดคือ มีการขายเอกิเบนให้กับผู้โดยสารรถไฟครั้งแรกที่สถานีอุตสึโนมิยะ จังหวัดโทจิกิ ในเดือนกรกฎาคม เมื่อปี พ.ศ. 2428 โดยเอกิเบนสำรับดั้งเดิมประกอบด้วยข้าวปั้นสองลูก เสิร์ฟมากับผักดองสองสามชิ้น ห่อด้วยกาบไม้ไผ่ เพื่อสะดวกต่อการพกพาและการเดินทางไกล
แม้ว่าในอดีตมีการกำหนดให้วันที่ 16 กรกฎาคม เป็นวันรำลึกถึงเอกิเบน เนื่องจากเชื่อกันอย่างแพร่หลายว่า เอกิเบนขายกันครั้งแรกที่สถานีอุตสึโนมิยะดังกล่าว แต่หลังจากมีข้อมูลที่ระบุออกมาว่า ที่นั่นที่นี่มีขายเอกิเบนก่อนเป็นที่แรก ประกอบกับในเดือนกรกฎาคมเป็นช่วงที่มีอากาศค่อนข้างร้อนส่งผลให้ข้าวกล่องเสียเร็ว
ขณะที่ต้นเดือนเมษายนเป็นช่วงเริ่มฤดูการท่องเที่ยวของชาวญี่ปุ่น โดยเฉพาะเทศกาลชมดอกซากุระบานตามสถานที่ต่างๆ และเป็นช่วงที่ผู้คนใช้บริการรถไฟในการเดินทางกันมาก จึงเป็นช่วงที่เอกิเบนขายดีที่สุดในรอบปี ดังนั้นในปี 2536 ญี่ปุ่นจึงกำหนดใหม่ ให้วันที่ 10 เมษายน เป็นวันแห่งเอกิเบน หรือวันเอกิเบน นั่นเอง
ส่วนการหาซื้อข้าวกล่องรถไฟมากินนั้น ในอดีตผู้คนซื้อได้จากคนที่เร่ขายตามชานชาลา โดยคนขายจะมีถาดไม้ขนาดใหญ่คล้องคอที่บรรจุข้าวกล่องมานำเสนอให้กับผู้โดยสารที่นั่งอยู่บนรถไฟ แต่เมื่อรถไฟความเร็วสูงถูกพัฒนาขึ้น และหน้าต่างของขบวนรถไฟปิดตาย ทำให้ไม่สามารถสื่อสารซื้อขายกันได้ แม้ยังมีบางสถานีที่มีชื่อเสียงเรื่องเอกิเบน ยังคงธรรมเนียมการเดินเร่ขายอยู่ แต่การขายเอกิเบน ก็เปลี่ยนรูปแบบจากการเดินเร่ขายตามหน้าต่างรถไฟ มาตั้งเป็นแผงขายและร้านค้า
ขณะเดียวกันการขายเอกิเบนก็เติบโตอย่างต่อเนื่องพร้อมๆ ไปกับการพัฒนาเส้นทางรถไฟ จนปัจจุบันทั่วประเทศญี่ปุ่นมีเอกิเบนขายมากกว่า 3,000 ชนิด
เอกลักษณ์ท้องถิ่น รังสรรค์เสน่ห์เอกิเบน
ข้าวกล่องรถไฟจำนวนมากมีเอกลักษณ์เฉพาะ และนำเสนอวัตถุดิบขึ้นชื่อของท้องถิ่นตามฤดูกาล เป็นอาหารพิเศษประจำภูมิภาค หรือยังคงรักษาวิธีการทำอาหารแบบดั้งเดิม เสน่ห์ของท้องถิ่นที่บรรจุอยู่ในกล่องข้าวนี้เองที่ดึงดูดให้นักเดินทางเฝ้ารอที่จะได้ลิ้มลองอาหารขึ้นชื่อและรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นนั้ ๆ และยังถือเป็นโอกาสพิเศษในการลิ้มรสอาหารที่โดยปกติไม่มีโอกาสได้ชิมอีกด้วย
ยกตัวอย่างเช่น “อิคาเมชิ” หรือข้าวหมึกยัดไส้ ของสถานีโมริ ถือเป็นข้าวกล่องยอดนิยมและมีชื่อเสียงของภูมิภาคฮอกไกโด ภายในกล่องบรรจุหมึกตัวอวบอ้วนยัดไส้ด้วยข้าวปรุงรสด้วยซอสหวาน เป็นข้าวกล่องรถไฟที่คว้าตำแหน่งอันดับหนึ่งจากการประกวดเอกิเบนอยู่เป็นประจำ และเป็นหนึ่งในข้าวกล่องรถไฟยอดฮิตที่ครองใจชาวญี่ปุ่นเสมอมา
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการสร้างสรรค์ข้าวกล่องรถไฟให้มีเสน่ห์และมีจุดขายที่แตกต่างกันไปในแต่ละกล่อง เช่น การนำเรื่องราวที่เกี่ยวข้องหรือการเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ของเมือง จังหวัด หรือภูมิภาคมาเป็นจุดขาย เช่น ในโอกาสเฉลิมฉลองรถไฟความเร็วสูง (ชินคันเซน) สายใหม่เชื่อมต่อไปยังเกาะฮอกไกโดทางตอนเหนือของญี่ปุ่นในปี 2559 ก็มีการผลิตข้าวกล่องที่ออกแบบบรรจุภัณฑ์เป็นหัวรถไฟของขบวนนั้นออกวางจำหน่ายด้วย
ทุกวันนี้ สถานีรถไฟในแทบทุกจังหวัดของญี่ปุ่นยังคงขายเอกิเบนที่เป็นเอกลักษณ์ และการจะลิ้มลองเอกิเบนที่เลื่องชื่อบางกล่องก็อาจต้องดั้นด้นไปยังสถานีรถไฟแห่งนั้นเท่านั้น
เพื่อนชาวญี่ปุ่นเล่าให้ฟังว่า วัฒนธรรมการกินข้าวกล่องรถไฟสะท้อนอยู่ในความคิดของคนญี่ปุ่นที่มักจะนึกไว้ว่า ถ้าเดินทางผ่านหรือไปยังสถานีรถไฟที่เมืองไหน ก็จะต้องสรรหาเอกิเบนของท้องถิ่นนั้นมาลิ้มลอง ในขณะที่บางคนก็กระตือรือร้นที่จะเดินทางไกลเพื่อไปลิ้มลองข้าวกล่องรถไฟที่อยู่ในใจ
ที่สำคัญ เธอบอกว่า การโดยสารรถไฟและนั่งกินข้าวกล่องไปด้วย ถือเป็นช่วงเวลาสุดพิเศษ ข้าวกล่องที่รสชาติเอร็ดอร่อยไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบท้องถิ่นที่คัดสรรมาเท่านั้น แต่การกินที่แกล้มด้วยบรรยากาศของสองข้างทางรถไฟ ถือเป็นห้วงเวลาของความสุขอิ่มเอมโดยแท้
คุณกำลังดู: วันข้าวกล่องรถไฟของญี่ปุ่น เอกิเบน รสชาติการเดินทางด้วยความอิ่มเอม
หมวดหมู่: วัฒนธรรม