รู้จักภาวะ "ดื้อโบ" เติมมากแค่ไหนผิวยังย่น อาจส่งผลกระทบลุกลามถึงใช้โบฯ ไม่ได้

รู้จักภาวะ "ดื้อโบ" เติมมากแค่ไหนผิวยังย่น อาจส่งผลกระทบลุกลามถึงใช้โบฯ ไม่ได้

จากกรณีศึกษาสตรีวัย 47 ปีจากประเทศสิงคโปร์ที่มีภาวะดื้อโบ โดยคนไข้ใช้ BoNT-A ปริมาณสูงอย่างสม่ำเสมอทุกๆ 6 เดือนเป็นระยะเวลา 3 ปี จากนั้นคนไข้สังเกตว่าประสิทธิผลของการรักษาด้วย BoNT-A ลดลง โดยพบว่าระยะเวลาของผลลัพธ์สั้นลง และจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาบ่อยขึ้น

คนไข้ตัดสินใจเปลี่ยนไปใช้สูตร BoNT-A ที่มีความบริสุทธิ์สูง ทำให้การรักษากลับมาได้ผลอีกครั้ง ต่อมาคนไข้เปลี่ยนกลับไปใช้ BoNT-A ที่มีปริมาณสูงและมีสิ่งแปลกปลอมอีกครั้งทำให้ประสิทธิผลของการรักษาหยุดลง คนไข้ตรวจเลือดและพบว่ามีแอนติบอดี้ต่อ BoNT-A แพทย์จึงวินิจฉัยว่าคนไข้มีภาวะดื้อ BoNT-A คนไข้ตัดสินใจกลับไปใช้สูตร BoNT-A ที่บริสุทธิ์อีกครั้ง คนไข้ตรวจเลือดและพบว่าแอนติบอดี้ลดลงเมื่อได้รับการรักษาด้วย BoNT-A ที่บริสุทธิ์อย่างต่อเนื่องทุก 3 -4 เดือน



จากเคสคนไข้ดังกล่าวแสดงถึงภาวะดื้อโบที่ผู้ใช้โบทูลินัมท็อกซินพบว่าประสิทธิผลในการรักษาด้วยโบทูลินัมท็อกซินลดลง ต้องเพิ่มปริมาณสาร มีการรักษาถี่ขึ้น หรือเข้ารับการรักษาแล้วไม่เกิดประสิทธิผลต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังขาดความรู้เรื่องภาวะดื้อโบทูลินัมท็อกซิน หรือดื้อโบ ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้ขาดประสิทธิภาพในการรักษาแต่อาจกลายเป็นสัญญาณเตือนว่าในอนาคต คนไข้อาจไม่สามารถรับการรักษาด้วย BoNT-A ได้อีกไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางด้านความงาม หรือการแพทย์

เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะการดื้อโบ Sanook Women จึงอยากให้ทุกเริ่มทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะดื้อโบตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงความสามารถในการหลีกเลี่ยงภาวะดื้อโบเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง

รู้จัก "ภาวะดื้อโบ" หรืออาการดื้อโบ BoNT-A คืออะไร

ภาวะดื้อโบ หรืออาการดื้อโบ คือการรับบริการ การรักษาด้วย BoNT-A และพบว่าการใช้ หรือการรักษาด้วยโบทูลินัมท็อกซินแล้วไม่เห็นผลในแบบประสิทธิผลลดลง ต้องเพิ่มปริมาณสาร หรือรักษาบ่อยขึ้น

สัญญาณ และอาการของภาวะดื้อโบ หรือ ดื้อต่อ BoNT-A

การใช้ปริมาณยาที่สูงขึ้นเพื่อให้ได้การตอบสนองต่อการรักษาเท่าเดิม หรือต้องรับการรักษาถี่ขึ้นเพื่อให้ได้ผลลัพธ์เท่าเดิม

ปัจจัยเสี่ยงให้เกิด "ภาวะดื้อโบ" หรือ ดื้อต่อ BoNT-A

  • การใช้ BoNT-A ที่มีสิ่งแปลกปลอม ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้สร้างแอนติบอดี้มายับยั้งการออกฤทธิ์ของ BoNT-A ซึ่งคล้ายกระบวนการสร้างภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีน
  • การได้รับ BoNT-A ที่มีสิ่งแปลกปลอมซ่้ำๆ ส่งผลให้การตอบสนองของภูมิคุ้มกันสูงขึ้น ทำให้เกิดการดื้อยาในระยะยาว

 

ต่อเรื่องนี้ศาตราจารย์นายแพทย์วาสนภ วชิรมนได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะดื้อโบยังมาจาก

1.ความถี่ในการใช้  "ส่วนใหญ่เราจะบอกกับคนไข้ว่าไม่ควรถี่กว่า 3 เดือน ต้องเข้าใจว่าโบคือสารแปลกปลอมอย่างหนึ่งที่ร่างกายจะเห็นและต่อต้าน ดังนั้นเราอย่าโหลดของพิสดารเข้าไปบ่อยนัก ส่วนใหญ่ก็จะแนะนำว่าอย่าบ่อยกว่า 3 เดือน"

2.ปริมาณโดสที่ใช้ "ส่วนตัวจะชอบใช้โดสน้อยๆ ก่อนเท่าที่จำเป็น อาจจะมีบางที่ที่ใช้โดสเยอะๆ กล้ามเนื้อไหนที่ไม่จำเป็นก็อัดเข้าไป เราอาจจะได้ยินคำว่าโบเหมาขวด ผมคิดว่าอันนี้เกินจำเป็นในบางอย่าง และร่างกายก็จะมองเห็นว่ามันคือสิ่งแปลกปลอม ดังนั้นอย่าทำให้ร่างกายเห็นสิ่งเหล่านี้เยอะ"

ผลกระทบต่อการเกิด "ภาวะดื้อโบ" หรือ ดื้อต่อ BoNT-A

  • ภาวะดื้อต่อ BoNT-A สามารถลดประสิทธิผลของการรักษา และส่งผลให้คนไข้ไม่สามารถเข้ารับการรักษาด้วย BoNT-A ได้อีกต่อไป ทั้งในด้านความงาม และการรักษาโรคในอนาคต
  • เนื่องจาก BoNT-A ใช้รักษาโรคทางระบบประสาท และการรักษาโรคต่างๆ เช่นโรคคอบิดเกร็ง และภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในคนไข้โรคหลอดเลือดสมอง โดยการเกิดภาวะดื้อต่อ BoNT-A อาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อคุณภาพชีวิตของคนไข้  หากในอนาคตจำเป็นต้องใช้ BoNT-A ในการรักษาอาการดังกล่าว

วิธีแก้ปัญหาเมื่อเกิด "ภาวะดื้อโบ" หรือดื้อต่อ BoNT-A แล้ว

  • สำหรับคนไข้ที่รับการรักษาด้วย BoNT-A อยู่แล้ว การเปลี่ยนไปใช้สูตร BoNT-A บริสุทธิ์ จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะดื้อต่อ BoNT-A มากยิ่งขึ้น

วิธีหลีกเลี่ยง "ภาวะดื้อโบ" หรือดื้อต่อ BoNT-A ทำได้อย่างไรบ้าง

  • การเลือกสูตร BoNT-A  ที่บริสุทธิ์ตั้งแต่เริ่มรับการรักษา มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะดื้อต่อ BoNT-A  และทำให้มั่นใจได้ว่าการรักษาจะยังคงมีประสิทธิผลในระยะยาว
  • เลือกแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการรักษา หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคลินิก หรือแพทย์บ่อยครั้งเพื่อให้แพทย์สามารถติดตามประวัติการรักษาและดูแลคนไข้ได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงภาวะดื้อต่อ BoNT-A ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • บุคลากรทางการแพทย์ควรใช้ปริมาณยาต่ำสุดเท่าที่จำเป็นเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ในการรักษาที่ต้องการ โดยเว้นระยะห่างระหว่างการรักษาแต่ละครั้งให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และหลีกเลี่ยงการฉีดเพิ่มเติมจากที่วางแผนไว้
  • บุคลากรทางการแพทย์ควรทำการประเมินทางคลินิกอย่างครอบคลุม วางแผนการรักษาอย่างรอบคอบ และใช้สูตร BoNT-A บริสุทธิ์ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะดื้อโบให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
  • บุคลากรทางการแพทย์ควรให้ความสำคัญในการให้คำปรึกษาครั้งแรกแก่คนไข้ เพื่อให้ความรู้แก่คนไข้เกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะดื้อต่อ BoNT-A

คนไข้ต้องสื่อสารกับแพทย์อย่างไรบ้าง

  • คนไข้ควรสอบถามแพทย์เกี่ยวกับแบรนด์ BoNT-A ที่ใช้,แผนการรักษา และแผนการดูแลตัวเองในระยะยาว
  • คนไข้ควรแจ้งแพทย์เกี่ยวกับเป้าหมายการรักษา ความกังวลต่างๆ การเข้ารับการรักษาด้วย BoNT-A ที่ผ่านมาทั้งในแง่การแพทย์ และความงาม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงที่สังเกตได้ในผลการรักษาที่ผ่านมา

วิธีเลือกผลิตภัณฑ์ BoNT-A บริสุทธิ์ ภายใต้ผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าบริสุทธิ์สูงเต็มท้องตลาด

  • สูตรยาจะถือว่าบริสุทธิ์ก็ต่อเมื่อประกอบด้วยโมเลกุลของสารนิวโรท็อกซินที่ออกฤทธิ์เท่านั้น และจะต้องไม่มีสิ่งแปลกปลอมเช่นโปรตีนเชิงซ้อน สารนิวโรท็อกซินที่ไม่ออกฤทธิ์ โปรตีนแฟลกเจลลิน หรือสารปนเปื้อนทางพันธุกรรมจองแบคทีเรีย
  • สูตร BoNT-A ที่อ้างว่า "บริสุทธิ์เป็นส่วนใหญ่" ยังอาจมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ เช่นสารนิวโรท็อกซินที่ไม่ออกฤทธิ์และแปลงสภาพแล้ว ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
  • ผู้ผลิตบางรายอาจอ้างว่าผลิตภัณฑ์เป็นผลิตภัณฑ์ที่บริสุทธิ์เนื่องจากสูตรการผลิตไม่มีส่วนประกอบของบางชนิด อย่างไรก็ตามสูตรเหล่านี้ยังคงมีสิ่งแปลกปลอมอย่างอื่นที่ระบบภูมิคุ้มกันสามารถจดจำได้ง่าย ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อ BoNT-A ได้เช่นกัน

ข้อมูลทั้งหมดนี้มาจากการประชุม DASIL/MERZ ASCEND Council Meeting ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมระดับโลกด้านแพทย์ผิวหนังและความงาม DASIL (Dermatology,Aesthetics,and Surgery International League) World Congress ครั้งที่ 12 ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงฮานอย เวียดนาม

 

 

 

 

 

 

 

 

คุณกำลังดู: รู้จักภาวะ "ดื้อโบ" เติมมากแค่ไหนผิวยังย่น อาจส่งผลกระทบลุกลามถึงใช้โบฯ ไม่ได้

หมวดหมู่: ผู้หญิง

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด