สารให้ความหวาน เกี่ยวข้องกับความเสี่ยง “โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน” จริงหรือ?
- สารให้ความหวานแทนน้ำตาล กำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก โดยเฉพาะในหมู่คนรักสุขภาพ หรือผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคอื่นๆ เนื่องจากให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายเป็นร้อยเท่า ไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย จึงให้พลังงานต่ำหรือไม่ให้พลังงานเลย
- สารให้ความหวาน (Artificial Sweeteners) อยู่มากมายหลายชนิด ที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อทดแทนความหวานจาก น้ำตาล แต่ผลการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบระยะยาวของสารเหล่านี้ต่อร่างกายยังอยู่ระหว่างการวิจัยเชิงลึกทั่วโลก
ในปัจจุบันมี สารให้ความหวาน หรือ Artificial Sweeteners อยู่มากมายหลายชนิด ที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อทดแทนความหวานจาก น้ำตาล แต่ผลการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบระยะยาวของสารเหล่านี้ต่อร่างกายยังอยู่ระหว่างการวิจัยเชิงลึกทั่วโลก ซึ่งยังมีอยู่ไม่มากในขณะนี้
สารให้ความหวานแทนน้ำตาล กำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก โดยเฉพาะในหมู่คนรักสุขภาพ หรือผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคอื่นๆ เนื่องจากให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายเป็นร้อยเท่า ไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย จึงให้พลังงานต่ำหรือไม่ให้พลังงานเลย (0 แคลอรี) และนั่นก็ทำให้ สารให้ความหวาน ถูกใช้เป็นส่วนผสมในอาหารและเครื่องดื่ม และมีให้เลือกมากมายหลากหลายชนิด ทั้งสารสกัดจากธรรมชาติ หรือสารสังเคราะห์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอาหารและเครื่องดื่ม เช่น ฟรุกโตสจากผลไม้ สารสกัดจากหญ้าหวาน (Stevia) ซูคราโลส แอสพาร์เทม แอซีซัลเฟมเค แซ็กคาริน (ขัณฑสกร) มอลทิทอล ซอร์บิทอล ไซลิทอล รวมถึงอิริทริทอล (Erythritol) ที่เพิ่งเป็นข่าวเมื่อไม่นานมานี้
ย้อนไปวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นข่าวใหญ่ เมื่อวารสารทางการแพทย์ระดับนานาชาติที่มีชื่อเสียงอย่าง Nature Medicine ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยเรื่อง “สารให้ความหวานอิริทริทอล (Erythritol) กับความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน” โดยในงานวิจัยนี้ ได้ทำการวิจัยศึกษาผลกระทบของสารนี้ในกลุ่มอาสาสมัครจำนวน 8 ราย ที่บริโภคสารอิริทริทอลอย่างต่อเนื่อง และพบว่า สารให้ความหวาน อิริทริทอล (Erythritol) ซึ่งจัดเป็นสารที่มีโครงสร้างคล้ายน้ำตาลและแอลกอฮอล์ จึงเรียกว่า น้ำตาลแอลกอฮอล์ (Sugar Alcohol) ชนิดหนึ่ง เป็น สารให้ความหวาน ที่นิยมใช้ในเครื่องดื่มและของหวานคีโต (เช่น แพนเค้กคีโต และไอศกรีมคีโต) มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญกับการเพิ่มขึ้นของปฏิกิริยาของเกล็ดเลือด (Platelet reactivity) และการเกิดลิ่มเลือด (Thrombosis) ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจต่างๆ ที่สำคัญผลของงานวิจัยนี้ให้ผลไปในทิศทางเดียวกับงานวิจัยที่เกี่ยวกับสารอิริทริทอลและ สารให้ความหวาน กลุ่ม Polyol (โพลีออล) และผลกระทบทางสุขภาพที่เคยตีพิมพ์เผยแพร่ไปก่อนหน้านี้
จริงๆ แล้ว สารอิริทริทอล เป็นสารที่สามารถพบได้ในธรรมชาติในเห็ดบางชนิด แตงโม ลูกแพร และองุ่น นอกจากนี้ยังพบได้ในอาหารหมักดองบางอย่าง เช่นไวน์และซีอิ๊วขาวในปริมาณเล็กน้อย และร่างกายของเรายังสามารถสร้างสารชนิดนี้ได้ในปริมาณหนึ่งอีกด้วย โดยสารชนิดนี้เพิ่งถูกผลิตโดยวิธีทางเคมีสังเคราะห์ในระดับอุตสาหกรรมและนำมาใช้อย่างแพร่หลายตั้งแต่ ค.ศ. 1990 ในญี่ปุ่นเพื่อแทนน้ำตาล ดังนั้นมนุษย์เริ่มทำการบริโภคอิริทริทอลในปริมาณมากในไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมานี้เอง
จากข้อมูลปัจจุบันของ องค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา (The U.S. FDA) ระบุว่า โดยปกติสารนี้ไม่มีผลกระทบข้างเคียงต่อมนุษย์ที่มีสุขภาพแข็งแรง [Generally Recognized as Safe (GRAS)] มีการค้นพบว่าเมื่อมี การบริโภคอิริทริทอลจะทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของอิริทริทอลในกระแสเลือดมากถึง 1,000 เท่า เนื่องจากสารนี้เป็นสารที่ถูกดูดซึมผ่านลำไส้ได้ง่ายและอยู่ในระบบไหลเวียนเลือดได้เป็นเวลานานหลายชั่วโมง และในขณะเดียวกันก็มีงานวิจัยอีกหลายชิ้นที่บอกว่า อิริทริทอลดีต่อเยื่อบุโพรงหลอดเลือด (endothelial cells) และสุขภาพหลอดเลือดหัวใจ ดังนั้นผลข้างเคียงของการบริโภคสารอิริทริทอลอาจจะไม่ได้มาจากการที่สารนี้เป็นพิษโดยตรงกับร่างกาย แต่อาจจะมาจากการบริโภคสารนี้ในปริมาณที่มากเกินไปนั่นเอง เช่นเดียวกับการบริโภคสารอาหารประเภทอื่นๆ ทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต (ทั้งแป้งและน้ำตาลเอง) ไขมัน และวิตามินต่างๆ สารอาหารทุกประเภทมีความจำเป็นต่อร่างกายทั้งสิ้น แต่หากบริโภคมากเกินความจำเป็นของร่างกายในแต่ละวัน อาจสะสมและก่อให้เกิดความเป็นพิษและผลเสียต่อระบบต่างๆ ของร่างกายขึ้นมาได้เช่นกัน
องค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา (The U.S. FDA) มีผลสำรวจว่าการบริโภคสารอิริทริทอลโดยเฉลี่ยของประชากรจะอยู่ที่ประมาณ 13 กรัมต่อวัน ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในงานวิจัยชิ้นนี้บริโภคสารเดียวกันนี้ในปริมาณเฉลี่ยที่ประมาณ 45 กรัมต่อวัน ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่สูงกว่าคนทั่วไปอย่างมาก อย่างไรก็ตามงานวิจัยนี้เป็นผลจากการสังเกตพฤติกรรมการบริโภคอิริทริทอล และความเกี่ยวข้องกันของโรคหลอดเลือดหัวใจ (ยังถือเป็นข้อสังเกตเบื้องต้น เนื่องจากร่างกายเรามีการทำงานที่ซับซ้อนเป็นอย่างมาก และการเกิดโรคมักมีองค์ประกอบและปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากมายจนแม้กระทั่งนักวิจัยเองก็ไม่สามารถรู้และเข้าใจได้หมด แต่ยังคงมีความจำเป็นที่ต้องศึกษาวิจัยกันอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่างานวิจัยนี้อาจจะยังไม่สามารถนำไปสู่ข้อสรุปได้ว่า อิริทริทอลเป็นสาเหตุหลักหรือปัจจัยสำคัญในการก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้อย่างชัดเจน แต่ผลงานวิจัยนี้ก็ทำให้เราได้ตระหนักถึงความเป็นไปได้ที่อิริทริทอลอาจมีผลกระทบข้างเคียงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจหากบริโภคในปริมาณที่มากเกินไป ดังนั้นผู้เขียนแนะนำผู้ที่ต้องการทดแทนน้ำตาลด้วยสารอิริทริทอล (หรือแม้กระทั่ง สารให้ความหวาน แทนน้ำตาลอื่นๆ) เพื่อการกินแบบคีโต (keto diet) หรือลดน้ำหนัก อาจจะเลือกบริโภคอิริทริทอลในปริมาณที่ไม่มากจนเกินไป หรือเลือกใช้ สารให้ความหวาน ชนิดอื่นควบคู่ไปด้วย และรับประทานอาหารหลากหลายชนิดและทราบแน่ชัดว่ามีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมีสมดุลทุกๆ วัน (เดินทางสายกลาง) น่าจะมีผลการศึกษาในเรื่องนี้ที่ชัดเจนมากขึ้นในอนาคต
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาจเป็นเรื่องยาก ขณะนี้รัฐบาลกำลังมีนโยบายการเก็บภาษีความหวานในเครื่องดื่ม เพื่อขับเคลื่อนพฤติกรรมผู้บริโภคให้ลดการกินหวานมากเกินไปจนอาจก่อให้เกิดโรค ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาล 6-8 กรัมต่อ100 มิลลิลิตร เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาล 8-10 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 3 บาทต่อลิตร และที่มีปริมาณเกิน 10 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร จะเสียภาษี 5 บาทต่อลิตร
อ้างอิง
- Nature Medicine volume 29, P.710-718 (2023) https://www.nature.com/articles/s41591-023-02223-9
- https://www.who.int/news/item/15-05-2023-who-advises-not-to-use-non-sugar-sweeteners-for-weight-control-in-newly-released-guideline
- https://health.clevelandclinic.org/erythritol/
- https://edition.cnn.com/2023/02/27/health/zero-calorie-sweetener-heart-attack-stroke-wellness/index.html
- กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. รายงานสถานการณ์โรค NCDs เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. 2562
- http://www.thaincd.com/document/file/download/knowledge/รายงานสถานการณ์โรคNCDs63update.pdf
คุณกำลังดู: สารให้ความหวาน เกี่ยวข้องกับความเสี่ยง “โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน” จริงหรือ?
หมวดหมู่: ผู้หญิง