4 สัญญาณอันตรายที่เสี่ยง "หัวใจวายเฉียบพลัน"

4 สัญญาณอันตรายที่เสี่ยง "หัวใจวายเฉียบพลัน"

แม้ว่าโรคมะเร็ง เบาหวาน ตับ ไต จะน่ากลัวมากก็จริง แต่ถ้าเทียบกับโรค “หัวใจวายเฉียบพลัน” แล้ว ที่เทียบกันไม่ติดเลยคือ ระยะเวลาที่แสดงอาการของโรค เพราะส่วนใหญ่คนมักไม่รู้ตัวว่ากำลังเป็นโรคหัวใจอยู่ เลยไม่ทราบว่ากำลังมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจวายเฉียบพลัน ดังนั้นจึงไม่มีการเตรียมตัวอะไรทั้งสิ้น และมีเวลาแค่ไม่กี่นาทีก่อนถึงมือหมอ ทำให้โอกาสรอดชีวิตจากภาวะหัวใจวายเฉียบพลันมีน้อยมากเหลือเกิน

ดังนั้น Sanook Health ขอแนะนำวิธีสังเกตง่ายๆ ว่าตัวคุณเอง หรือคนรอบข้างของคุณกำลังอยู่ในภาวะหัวใจวายเฉียบพลันหรือไม่ เพราะไม่ว่าคุณ หรือใครก็ตาม มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้ทั้งนั้น

หลักการจำง่ายๆ นึกถึงคำว่า F A S T เข้าไว้

F = Face

มุมปากข้างใดข้างหนึ่งตกลงมาโดยไม่ทราบสาเหตุ และไม่สามารถบังคับให้มุมปากกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้

A = Arms

ไม่สามารถยกแขนขึ้นได้พร้อมกันทั้งสองข้าง หรือไม่สามารถยกแขนข้างใดข้างหนึ่งได้

S = Speech

วิธีการพูด การออกเสียงเปลี่ยนไป จู่ๆ ก็เริ่มพูดไม่ขัด พูดจายานคราง ไม่คล่องปาก ฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง

T = Tongue

ลิ้นพันกัน ลิ้นคับปาก ลิ้นอาจจจะพลิก หรือบิด โดยที่ร่างกายไม่สามารถบังคับทิศทางของลิ้นได้เอง

พฤติกรรมแบบไหนที่เสี่ยงหัวใจวายเฉียบพลันได้

  1. อ้วน : บางครั้ง การปล่อยให้ตัวเองมีน้ำหนักที่เกินมาตรฐาน หรือจะเรียกให้เข้าใจว่า อ้วน นั้นแหละ ก็อาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ และเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการทำงานของหัวใจ มีสารพัดโรค ไม่ว่าจะเป็น โรคความดันโลหิตสูง , ไขมันในเลือดสูง , โรคเบาหวาน , โรคหัวใจ เป็นต้น มีสาเหตุมาจากการมีไขมันในเลือดสูง ส่งผลให้การไหลเวียนโลหิตติดขัด จนกระทั่งหัวใจขาดเลือดและเสียชีวิตอย่างกะทันหัน

  2. รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง : อาหารจำพวก เบเกอรี่ เค้ก เนื้อสัตว์ติดมัน ชีส อาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารสำเร็จรูป หรืออาหารจำพวกปิ้งย่างทำให้เกิดการสะสมของไขมันในเลือดสูง  เรียกว่า คอเลสเตอรอล ซึ่งเจ้าไขมันชนิดนี้หากมีการสะสมมากก็จะไปอุดตันอยู่ในหลอดเลือดหัวใจ จนทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้

  3. ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากจนเกินไป : หากร่างกายได้รับคาเฟอีนในจำนวนที่มากจนเกินไป อาจทำให้ร่างกายเสียสมดุลของสารเกลือแร่ เสี่ยงต่อการเกิดอาการชักเกร็ง , หลังแอ่น , ปอดแฟบ , ความดันโลหิตพุ่งสูงอย่างเฉียบพลัน ทำให้หัวใจถูกบีบรัดมากเกินไป อาจส่งผลให้เกิดภาวะหายใจและระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลวจนถึงแก่ชีวิตได้ เพิ่มเติม ปริมาณคาเฟอีนที่เป็นอันตรายต่อร่างกายจะอยู่ที่ราว 100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมของน้ำหนักตัว หรือประมาณ 5,000 - 10,000 มิลลิกรัมในผู้ใหญ่ แต่ก็ขึ้นอยู่ที่ความสามารถในการขับคาเฟอีนจากร่างกายของแต่ละคนด้วย

  4. ขาดการออกกำลังกาย : เมื่อไม่ออกกำลังกาย ก็จะเป็นที่มาของความอ้วน ซึ่งพออ้วนก็จะเสี่ยงต่อโรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิต และโรคเรื้อรังอื่นๆ อีกมาก หากไม่ออกกำลังกายเลย การทำงานของระบบไหลเวียนโลหิตก็อาจไม่คล่องตัว เกิดเป็นตะกรันไขมันขึ้นมาเกาะตามผนังหลอดเลือด ส่งผลให้เลือดเดินทางไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ของร่างกายได้ไม่ดี ซ้ำร้ายกว่านั้น อาจเกิดภาวะไขมันอุดตันในเส้นเลือด ทำให้หัวใจขาดเลือดได้

  5. ออกกำลังกายมากเกินไป : ไม่ออกกำลังกายเลยก็ไม่ดี ออกกำลังกายมากไปก็ยิ่งไม่ดี เรื่องแบบนี้มักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่เป็นโรคหัวใจทั้งแบบรู้ตัว หรือไม่รู้ตัวก็ได้ หากออกกำลังกายมากจนเกินความพอดี ก็จะเป็นการไปเพิ่มภาระให้กับระบบหัวใจและปอดให้ต้องทำงานอย่างหนัก ไปจนกระทั่งสูญเสียความสามารถในการทำงาน และกล้ามเนื้อหัวใจก็ตายลงไปในที่สุด ฉะนั้น หากออกกำลังกายแล้วรู้สึกเหนื่อย เหนื่อยมากจนหอบและพูดคุยไม่ได้แม้จะเป็นคำสั้นๆ แนะนำว่าให้ลดการออกกำลังกายลง (Cool Down) และหยุด จากนั้นให้นอนพัก อย่าฝืนออกกำลังกายต่อ ที่สำคัญมากๆ คือ อย่าหยุดออกกำลังกายกะทันหัน เพราะจะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

  6. ใช้สารเสพติด : พฤติกรรมที่ชอบเสพยาเสพติด อาทิ โคเคน แอมเฟตามิน อิฟีดริน หรือได้รับยาบางชนิดเกินขนาด ก็อาจส่งผลให้หลอดเลือดมีการหดตัวอย่างรุนแรง เสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้เช่นกัน

  7. ช็อก : การเกิดภาวะช็อก มีสาเหตุมาจากการสูญเสียเลือดในปริมาณมากๆ เช่น ผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุแล้วเสียเลือดมาก ส่งผลให้หัวใจไม่มีเลือดไปหล่อเลี้ยง หรือเกิดภาวะที่หัวใจขาดเลือด

  8. สูบบุหรี่ : บุหรี่ เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้หลอดเลือดหัวใจเกิดการหดตัว มีการจับตัวของไขมันที่ผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดหัวใจตับลงจนเกิดเป็นภาวะหัวใจขาดออกซิเจน เส้นเลือดหัวใจตีบจนทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่ได้ เมื่อเป็นอย่างนั้นก็จะมีอาการจุกเสียด เจ็บหน้าอก อาการจะชัดเจนเมื่อออกกำลังกาย เกิดโอกาสเสี่ยงที่จะมีภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้อย่างไม่รู้ตัว

  9. เสียใจอย่างหนัก สะเทือนใจอย่างรุนแรง : ความรู้สึกที่รุนแรงก็อาจส่งผลให้ถึงแก่ชีวิตได้เช่นกัน ซึ่งลักษณะเช่นนี้ทางการแพทย์จะเรียกว่า ภาวะหัวใจสลาย หรือชื่ออย่างเป็นทางการ คือ โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติทาโคสึโบะ โดยที่ภายในร่างกายของผู้ป่วยจะมีการหลังของฮอร์โมนความเครียดออกมามากกว่าปกติและเฉียบพลัน อีกทั้งยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อหัวใจและหลอดเลือด ที่อาจเกี่ยวกับภาวะที่หัวใจด้านซ้ายไม่สามารถทำงานได้อย่างปกตินอกจากนี้ อาการที่เกิดขึ้นก็ยังอาจมีส่วนเกี่ยวข้องมาจากสมองที่มีการหลังสารแคทีโคลามีน หรือสารสื่อประสาท อาทิ อีพินีฟริน , นอร์อีพิเนฟริน และโดพามีน ในขณะที่ผู้ป่วยมีความเครียดสูง หรือมีสิ่งที่มาทำให้เกิดความสะเทือนใจอย่างรุนแรง เหตุการณ์ตัวอย่าง เช่น สูญเสียคนรักอย่างกะทันหัน ไม่ว่าจะเป็น พ่อ , แม่ หรือญาติที่สนิท เหตุการณ์ต่อมา คือ เจอกับความผิดหวังที่ทำให้เสียใจอย่างหนัก ทำให้หลอดเลือดหัวใจเกร็งและแข็งตัว เลือดจึงไม่สามารถที่จะผ่านไปเลี้ยงหัวใจได้ และยิ่งหากเกิดเป็นเวลานาน หัวใจจะไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้ตามปกติ เป็นสาเหตุของภาวะหัวใจล้มเหลว และอาจร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

  10. เครียดง่าย : ผู้ที่ต้องทำงานหนักๆ และมีความเครียดสูง นับเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติมากที่สุด เนื่องจากความเครียดจะเข้าไปกระตุ้นให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ ตลอดจนเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคหลอดเลือดแดงแข็งตัว ซึ่งเป็นภาวะที่หลอดเลือดแดงมีไขมัน เกิดการอักเสบต่างๆ ตามผนังหลอดเลือด ทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดแดง เสี่ยงต่อภาวะหัวใจขาดเลือดได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเครียดมากๆ และมีความเครียดอยู่เป็นประจำ

8 อาการที่เข้าข่ายเสี่ยงเป็น "หัวใจวายเฉียบพลัน"

  1. ใจสั่น : หัวใจเต้นเร็ว ไม่สม่ำเสมอ ใจสั่น บางครั้งอาจมีอาการเหนื่อยหอบจะเป็นลม
  2. เหนื่อยง่าย : ในความเป็นจริงแล้วอาการเหนื่อยง่ายก็มีอยู่หลายสาเหตุ แต่ก็เป็นหนึ่งในอาการของโรคหัวใจด้วยเช่นกัน จะเป็นอาการเหนื่อยในลักษณะเหนื่อยง่าย หายใจเร็ว บางครั้งหอบจนแทบจะพูดไม่ได้ ต้องสังเกตด้วยว่ามีเสียงขณะที่หายใจด้วยหรือไม่  ถ้ามีอาการเหนื่อยง่ายอยู่เป็นประจำก็เข้าข่ายเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและหาทางแก้กันต่อไป
  3. ขาบวม : เมื่อการสูบฉีดเลือดของหัวใจทำได้ไม่ดี ก็อาจทำให้เกิดอาการขาบวมผิดปกติ ซึ่งบางครั้งก็ไม่ทราบสาเหตุ
  4. เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก : อาการเจ็บหน้าอก หรือแน่หน้าอกนี้ หลายคนอาจจำสับสนกับโรคกรดไหลย้อน เนื่องจากบางครั้งก็อาจจะรู้สึกเจ็บ หรือแน่นร้าวไปถึงแขนได้ ลักษณะของการจุกจะเหมือนกับโดนกดทับที่หน้าอก ต้องลองสังเกตและแยกอาการให้ถูกต้อง
  5. หน้ามืด วูบ เป็นลมบ่อย : เนื่องจากหัวใจมีการหยุดเต้น จึงทำให้หมดสติไปชั่วคราวได้ หากเกิดอาการเช่นนี้บ่อยๆ ไม่ควรปล่อยไว้ ต้องรีบเดินทางไปพบแพทย์ในทันที
  6. ตื่นกลางดึกเพราะหายใจลำบาก : บางครั้งเราก็ต้องการอากาศหายใจที่มากกว่าปกติ จึงทำให้นอนไม่ได้ เป็นเหตุให้ต้องตื่นขึ้นมากลางดึกเพื่อหายใจ หรือไอให้รู้สึกโล่ง
  7. เมื่อนอนหงายแล้วหายใจลำบาก : ทุกครั้งที่ลงนอบราบ หรือนอนหงาย มักจะหายใจลำบาก หรือรู้สึกแน่นจนหายใจไม่เป็นปกติ
  8. ชอบเข้าห้องน้ำกลางดึก : หากตื่นมาเข้าห้องน้ำกลางดึกที่ไม่ใช่แค่ไปปัสสาวะ แต่ยังมีอาการอื่นเกิดร่วมด้วย ก็ต้องรีบเดินทางไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยแล้วล่ะ

วิธีช่วยเหลือผู้ที่อาจอยู่ในภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน

เมื่อเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ “ความเร็ว” จึงเป็นสิ่งสำคัญ เบื้องต้นคุณควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล หรือหน่วยแพทย์ฉุกเฉินที่เบอร์ 1669 หรือหากสะดวก และโรงพยาบาลอยู่ไม่ไกล สามารถขับรถพาผู้ป่วยไปที่โรงพยาบาลเองได้ (แต่ก็ต้องโทรไปแจ้งทีมแพทย์เพื่อเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมเมื่อผู้ป่วยไปถึงทันทีเช่นกัน) ระหว่างที่กำลังรอการช่วยเหลือควรให้ผู้ป่วยนอนหงาย เอียงหน้าไปด้านใดด้านหนึ่ง และสังเกตอาการเป็นระยะๆ หากเริ่มมีอาการหัวใจหยุดเต้น ควรรีบทำ CPR โดยด่วน

  • CPR ปั๊มหัวใจ ทำตอนไหน? ทำอย่างไรถึงจะถูกต้อง?

วิธีป้องกันภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน

หลายคนมีความประมาทในชีวิต ไม่เข้ารับการตรวจร่างกายประจำปี ด้วยเข้าใจว่าร่างกายแข็งแรงดีไม่มีโรคภัยไข้เจ็บอะไร และยังออกกำลังกายเป็นประจำอีกด้วย แต่โรคนี้ก็ใช่ว่าจะไม่เคยส่งสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้ามาก่อน เพราะหากคุณเคยรู้สึกเจ็บ หรือแน่นหน้าอกขณะออกกำลังกาย เดินหรือวิ่งขึ้นบันไดหลายชั้น เต้น หรือเริ่มทำกิจกรรมอะไรหนักๆ นั่นหมายความว่าคุณเริ่มมีสุขภาพหัวใจที่ไม่แข็งแรง ดังนั้นควรรีบเข้ารับการตรวจหัวใจโดยด่วน

  • โรคหัวใจวายเฉียบพลัน ตรวจร่างกายปกติอาจไม่พบ ต้องใช้วิธี EST

นอกจากนี้ เรื่องของอาหารการกินก็สำคัญ เพราะหากทานอาหารที่ก่อให้เกิดไขมันอุดตันเส้นเลือดมากเกินไป เช่น เนื้อติดมัน อาหารปิ้งย่าง รวมไปถึงเบเกอรี่ ขนมหวานน้ำตาลสูงต่างๆ ก็เป็นสาเหตุที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจวายได้เช่นกัน

คุณกำลังดู: 4 สัญญาณอันตรายที่เสี่ยง "หัวใจวายเฉียบพลัน"

หมวดหมู่: รู้ทันโรค

แชร์ข่าว