รู้จัก "โรคเดอกาแวง” โรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ โรคที่ไม่ควรมองข้าม

ผู้ป่วยหลาย ๆ ท่านอาจจะชล่าใจเวลาปวดที่บริเวณข้อมือหรือด้านบนหัวแม่มือ คิดว่าอาการที่เกิดขึ้นนี้คงไม่ส่งผลอะไรมากกับร่างกายของเรา แต่รู้หรือไม่ว่าหากปล่อยไว้ไม่เข้ารับการรักษาที่เหมาะสมอาจส่งผลให้เกิดโรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบได้
โรคเดอกาแวงคืออะไร
โรคเดอกาแวงหรือที่เรียกทางการแพทย์ว่า De Quervain’s Tenosynovitis เป็นภาวะที่เกิดจากการอักเสบของปลอกหุ้มเอ็นบริเวณข้อมือด้านนิ้วหัวแม่มือ ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการปวดและจำกัดการเคลื่อนไหวในบริเวณดังกล่าว
สาเหตุของโรค
- การใช้งานข้อมือซ้ำๆ จากการทำกิจกรรมที่ต้องขยับข้อมือหรือนิ้วหัวแม่มือบ่อย เช่น พิมพ์งาน เล่นโทรศัพท์ ใช้เครื่องมือ หรือยกของหนัก
- การบาดเจ็บ โดยการได้รับแรงกระแทกหรือบาดเจ็บที่ข้อมือหรือเอ็น
- การเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมน สามารถพบในสตรีตั้งครรภ์หรือหลังคลอด เนื่องจากฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงและการใช้งานข้อมือขณะดูแลลูก
- เกิดขึ้นได้จากโรคประจำตัว เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์หรือโรคเกาต์
อาการของโรค
- ปวดบริเวณข้อมือด้านนิ้วหัวแม่มือ อาการปวดอาจร้าวไปที่ปลายแขนหรือข้อนิ้ว
- บวม บริเวณข้อมืออาจมีอาการบวมและรู้สึกเจ็บเมื่อกด
- ขยับนิ้วหัวแม่มือได้ลำบาก โดยเฉพาะเมื่อพยายามกำมือ หยิบจับสิ่งของ หรือหมุนข้อมือ
- เสียงดังกึกในข้อมือ บางครั้งอาจมีเสียงดังคล้ายเสียดสีระหว่างการเคลื่อนไหว
การวินิจฉัย
- การตรวจร่างกาย แพทย์จะทำการตรวจหาจุดที่ปวดและประเมินการเคลื่อนไหวของข้อมือ
- Finkelstein Test การทดสอบโดยให้ผู้ป่วยกำมือพร้อมกับกดนิ้วหัวแม่มือเข้าไปในกำมือ แล้วงอข้อมือไปทางด้านนิ้วก้อย หากเกิดอาการปวดแสดงว่ามีการอักเสบของปลอกหุ้มเอ็น
- Ultrasound คือการอัลตร้าซาวด์เอ็นและปลอกหุ้มเอ็นโดยใช้เครื่องอัลตราซาวด์ ดูภาพบริเวณข้อมือ ภาพจะแสดงให้เห็นถึงตำแหน่งที่มีการอักเสบและบวม ไปจนถึงบอกความรุนแรงของอาการและปริมาณของพังผืดบริเวณดังกล่าว โดยสามารถใช้เครื่องอัลตราซาวด์กำหนดตำแหน่งที่จะทำการฉีดยาหรือผ่าตัดได้
การรักษา
- การพักการใช้งาน หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวหรือกิจกรรมที่กระตุ้นให้อาการแย่ลง
- การประคบเย็น ลดอาการบวมและการอักเสบ
- การใช้ยา ยาลดการอักเสบกลุ่ม NSAIDs เช่น ไอบูโพรเฟน
- การใส่อุปกรณ์พยุงข้อมือ ช่วยลดการเคลื่อนไหวที่ทำให้เกิดอาการปวด
- กายภาพบำบัด เพื่อฟื้นฟูความแข็งแรงและการเคลื่อนไหว
- การฉีดยาสเตียรอยด์ ภายใต้เครื่องอัลตราซาวด์ กรณีที่อาการไม่ดีขึ้นหลังจากการรักษาเบื้องต้น
- การผ่าตัด ในกรณีรุนแรงที่อาการไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบอื่น แพทย์อาจพิจารณาให้ผ่าตัดเพื่อเปิดปลอกหุ้มเอ็น
การป้องกัน
- หลีกเลี่ยงการใช้งานข้อมือซ้ำๆ หรือในท่าที่ไม่เหมาะสม
- พักมือและข้อมือระหว่างการทำงาน เช่น การพิมพ์งานหรือใช้โทรศัพท์
- ฝึกยืดและบริหารข้อมืออย่างสม่ำเสมอ
- ใช้ท่าทางการทำงานที่เหมาะสม เช่น
การปรับโต๊ะและเก้าอี้ให้อยู่ในระดับที่ถูกต้อง
โรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบมักไม่ใช่อาการที่รุนแรง แต่หากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้การใช้งานข้อมือแย่ลงได้ หากผู้ป่วยมีอาการที่คล้ายคลึงกับโรคนี้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม
บทความโดย
นายแพทย์ เกรียงศักดิ์ เล็กเครือสุวรรณ
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านคลินิกระงับปวด และผ่าตัด ข้อสะโพก ข้อเข่า ข้อไหล่
ศูนย์ศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์เฉพาะทาง ชั้น 2 โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล (WMC)
คุณกำลังดู: รู้จัก "โรคเดอกาแวง” โรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ โรคที่ไม่ควรมองข้าม
หมวดหมู่: ผู้หญิง